ReadyPlanet.com


ส่งหมายเรียก-สำเนาคำฟ้อง


จำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่ซึ่งปรากฎรายละเอียดที่ได้คัดถ่ายมาจากสำนักทะเบียน (เขต/อำเภอ) แต่บ้านดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นที่พักอาศัยได้ มีเพียงเสาบ้านที่ตัวบ้านถูกรื้อถอนไปแล้ว การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องมีผลอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ถาม :: วันที่ลงประกาศ 2011-11-15 10:50:55


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1457450)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10870/2553

          จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าบ้านซึ่งโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น ไม่มีสภาพเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ คงมีเพียงเสาบ้านเท่านั้นและจำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว จึงไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่เจ้าพนักงานศาลนำไปส่ง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แม้จำเลยจะยื่นคำขอโดยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนว่าเป็นไปตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
________________________________

( สมยศ เข็มทอง - สิริรัตน์ จันทรา - ธนฤกษ์ นิติเศรณี )
ศาลจังหวัดกาญจนบุรี - นายประสิทธิ์ รวมสิน
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายสุพจน์ บำเพ็ญวัฒนา

ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 199 จัตวา, 246, 247
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสิน ตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อ ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่ พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึง วันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่อง คำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่าเช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมิได้มี ข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึง ถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง หรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

มาตรา 199 จัตวา คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การแต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้น ได้สิ้นสุดลงแต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้ เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
--คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัด ยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า หากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

มาตรา 246 เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีใน ศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีใน ชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม

มาตรา 247 ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น และภายใต้บังคับบทบัญญัติสี่มาตราต่อไปนี้กับกฎหมายอื่นว่าด้วยการฎีกา ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สำนักงาน วันที่ตอบ 2011-11-15 11:17:50



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล