ReadyPlanet.com


แม่ให้โดยเสน่หาที่ดิน พี่น้องจะเรียกคืน


ยายยกที่ดินให้โดยเสน่หากับแม่จำนวน  16 ไร่ เมื่อประมาณ 3-4ปีที่แล้ว มาถึงปัจจุบันแม่เจ็บหนัก พี่น้องของแม่จะมาเรียกเอาที่ดิน 16 ไร่คืน เพราะยายให้แม่โดยเสน่หาไม่มีการซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร พี่น้องของแม่จะเรียกคืนได้ไหมคะ...ตอนนี้ยายเสียชีวิตไปประมาณ 2 ปีแล้วคะ...ขอบคุณมากค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ลูกสาวอยากรู้ :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-09 10:24:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1444692)

ผมไม่แน่ใจว่าที่บอกว่า "ยายให้แม่โดยสเสน่หาโดยไม่มีการซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร" คุณหมายถึงการให้ปากเปล่าใช่หรือไม่?  ถ้าเป็นการให้โดยคำพูดก็ถือว่าการให้ไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้ครับ

เมื่อเจ้าของทรัพย์หรือเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม มรดกย่อมตกแก่ทายาท ทายาทมีใครบ้าง?  อันดับแรกก็ดูที่ บิดา มารดา และ บุตร ตลอดจนคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนครับ

ดังนั้นตามคำถามนั้นพี่น้อง(ร่วมสายโลหิต) ย่อมมีสิทธิรับมรดกของยาย(แม่ของเขา) ได้ครับ

525 บัญญัติว่าการให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-09 10:28:57


ความคิดเห็นที่ 2 (1444694)

คำพิพากษาฎีกาที่ยกมาให้อ่านกันนี้ น่าสนใจมากที่หมายเหตุท้ายฎีกาครับ เป็นเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกานี้

คู่สัญญาตกลงทำสัญญาจะให้ที่ดินมีโฉนดโดยเสน่หา โดยตกลงกันว่าจะนำสัญญาให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนด 7 วัน ต่อมาผู้จะให้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ย่อมทำให้สัญญาจะให้ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะบังคับให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1931/2537

           จำเลยทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดโดยเสน่หาแก่โจทก์โดยจะนำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินภายในกำหนด 7 วัน แต่เมื่อการให้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้

          คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29323 ถึง 29328 แขวงบางกะปิ(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ)เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร รวม 6 แปลง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530จำเลยทำสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวโดยเสน่หาแก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 6 แปลง นับแต่วันยกให้มาจนบัดนี้ จำเลยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ไปทำการจดทะเบียนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการโอนที่ดินทั้ง 6 แปลงดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

          จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทโฉนดเลขที่ 29323 ถึง 29328 แขวงบางกะปิ(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่าไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์โดยเสน่หาแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ หากฟังว่าเป็นคำมั่นจะให้โจทก์ก็ฟ้องบังคับไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 และมาตรา 526 โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหลอกให้จำเลยทำสัญญายกที่ดินให้โจทก์ ความจริงจำเลยต้องการขายที่ดิน โจทก์จึงอ้างว่าจะไปหาคนมาซื้อให้เพื่อความสะดวกในการขาย โจทก์กับพวกให้จำเลยทำสัญญายกที่พิพาท 6 แปลง ให้โจทก์เพื่อไปแสดงต่อผู้จะซื้อเพื่อผู้จะซื้อจะได้มอบเงินค่าที่ดินแก่จำเลย จำเลยจึงทำสัญญายกที่ดินให้แก่โจทก์จำเลยไม่เคยมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์แต่อย่างใด

          จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาให้ตามฟ้องมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ขอให้ยกฟ้อง

          โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขอให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความก่อน เพราะสัญญาให้ตามฟ้องเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนโดยการไปจดทะเบียนให้โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยยืมเงินจากโจทก์แล้วทำสัญญายกที่ดินให้ เพื่อตีใช้หนี้อันเป็นการหลอกลวงโจทก์

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาตามฟ้องเป็นโมฆะ โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526ไม่ได้

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยเสน่หาแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ที่ดินที่จำเลยยกให้โจทก์ตามสัญญามีจำนวน 6 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 29323 ถึง29328 แขวงบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 แต่หนังสือสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 บัญญัติว่าการให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบและมาตรา 526บัญญัติว่า ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ ฯลฯ สำหรับที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การโอนกรรมสิทธิ์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยเสน่หาตามเอกสารหมาย จ.7 ตอนท้ายมีข้อความว่า ฯลฯ คู่สัญญาจะได้นำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินภายในกำหนด7 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยประสงค์จะยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ฉะนั้น เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เรื่องการทำสัญญาให้ไม่ถูกแบบเป็นการไม่ชอบแล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ในข้ออื่น ๆ อีกก็ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ฟ้องของโจทก์สามารถบังคับได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป"

          พิพากษายืน

( ประยูร มูลศาสตร์ - ก้าน อันนานนท์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ )

หมายเหตุ 

          (1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 บัญญัติว่า"การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ"

           ตามมาตรานี้แปลความกลับกันก็หมายความว่า ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การให้ย่อมไม่สมบูรณ์ซึ่งการให้ทรัพย์สินโดยทั่วไป (ไม่ใช่การให้ทรัพย์สินตามมาตรา 456วรรคแรก) จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สิน (มาตรา 523) เห็นได้ว่ามาตรา 525 เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 523 สำหรับการให้ทรัพย์สินที่ถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนในข้อที่สมบูรณ์โดยไม่จำต้องส่งมอบ

          (2) แต่ทั้ง ๆ ที่ มาตรา 525 บัญญัติใช้คำว่าสมบูรณ์ ศาลฎีกาก็ยังเคยวินิจฉัยไว้ว่า เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียน ย่อมเป็นโมฆะ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นไปไม่ทราบ ตามฎีกาที่ 226/2520(ตัดสินตามฎีกาที่ 2364/2515) ข้อเท็จจริงเป็นสัญญาให้ที่ดินรวมอยู่ด้วย กล่าวไว้ว่า "...ทั้งไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525บังคับไว้ย่อมไม่สมบูรณ์ เท่ากับไม่มีสัญญาให้...เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 115(ปัจจุบันมาตรา 152)" เป็นการวินิจฉัยแบบหัวมังกุด ท้ายมังกร เพราะตอนแรกว่าไม่สมบูรณ์ ตอนท้ายกลับว่าเป็นโมฆะ หาสอดคล้องต้องกันไม่ ทั้ง ๆ ที่ตามมาตรา 525ใช้คำว่าสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากไม่ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนก็ไม่สมบูรณ์ไม่ใช้คำว่าโมฆะและไม่หมายถึงว่าเป็นโมฆะ

          (3) เมื่อเป็นการใช้กฎหมายตามตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก ตอนแรก ตามมาตรา525 เมื่อไม่ทำเป็นหนังสือจดทะเบียน หมายถึง ไม่สมบูรณ์จะตีความว่าเป็นโมฆะได้อย่างไร ไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ เป็นคนละเรื่องกัน สัญญาให้เป็นสัญญาฝ่ายเดียว (unilateralcontract) แม้เป็นนิติกรรมสองฝ่าย กล่าวคือ มีคำเสนอคำสนองหรือตกปากลงคำมีเจตนาของคู่สัญญาตรงกัน ก็ย่อมเกิดสัญญาให้ขึ้นแล้วจะถือว่าไม่เป็นสัญญาให้หรือไม่มีสัญญาให้เกิดขึ้นย่อมไม่ได้ สัญญาให้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆเพียงแต่ไม่ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนการให้หรือสัญญาให้ ก็ยังไม่สมบูรณ์เท่านั้น แม้จะถือว่าการทำเป็นหนังสือจดทะเบียนเป็นแบบกฎหมายก็บัญญัติให้เป็นเพียงไม่สมบูรณ์เท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นโมฆะเสียเปล่าไปตามหลักที่บัญญัติไว้ทั่วไปตามมาตรา 152 จะว่าเป็นข้อยกเว้นก็ได้

          (4) เมื่อบุคคลตกลงทำสัญญากันแล้วแม้ทำกันด้วยวาจา ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนก็ย่อมก่อให้เกิดหนี้ผูกพันระหว่างกัน ถ้าเป็นสัญญาฝ่ายเดียวไม่ต่างตอบแทน เช่น สัญญาให้ ก็ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้ให้จะต้องชำระแก่ฝ่ายผู้รับ จึงย่อมฟ้องร้องบังคับกันได้ตามหลักทั่วไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคแรก)

           ผลของความไม่สมบูรณ์กับโมฆะนั้นผิดกันไกล ถ้าเป็นเรื่องไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาให้ ยืม ฯลฯ ย่อมมีหนี้ที่จะบังคับกันได้แล้ว ย่อมฟ้องร้องบังคับให้ส่งมอบหรือจดทะเบียนกันได้ แต่ถ้าเป็นโมฆะแล้วย่อมเสียเปล่าแม้จะมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ตกลงให้กันก็ยังเป็นโมฆะอยู่ดีไม่มีทางสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ผลเป็นดังนี้ ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาจึงคลาดเคลื่อน

          (5) เคยมีคำพิพากษาของศาลหลายเรื่องที่วินิจฉัยว่าผู้เช่าจะฟ้องบังคับให้ผู้ให้เช่าไปจดทะเบียนการเช่าหาได้ไม่แต่ผู้บันทึกมีความเห็นมานานแล้วว่า ถ้าหากคู่กรณีตกลงเช่าอสังหาริมทรัพย์กันซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยคู่กรณีมีความตั้งใจ ดังนี้ ย่อมฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนกันได้อาศัยบทบัญญัติทั่วไป โดยที่ผู้ให้เช่าเป็นลูกหนี้เมื่อไม่ชำระหนี้ผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมฟ้องบังคับผู้ให้เช่าซึ่งเป็นลูกหนี้ได้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคแรก) ซึ่งก่อนนั้นจะฟ้องบังคับคดีตามสัญญาเช่าระหว่างกันไม่ได้แน่ เว้นแต่จะได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ฯลฯ ตาม มาตรา 538 จึงต้องฟ้องบังคับโดยอาศัยหลักการไม่ชำระหนี้ทั่วไป

          (6) ข้อเท็จจริงตามฎีกาที่บันทึกนี้ได้ความว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดโดยเสน่หาแก่โจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และหนังสือดังกล่าวตอนท้ายมีข้อความว่า ฯลฯ คู่สัญญาจะได้นำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญาซึ่งต้องถือหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา (primautedevolonte)(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114 เดิม,151 ใหม่)ศาลฎีกาเองก็เห็นว่าจำเลยประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่กลับไม่บังคับตามเจตนาของคู่สัญญาโดยไปวินิจฉัยตอนท้ายว่า "เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมให้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้" แทนที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีโดยหลักการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป โดยฟ้องบังคับให้ผู้ให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้แก่โจทก์ผู้รับการให้ ผู้บิดพลิ้วไม่ยอมโอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แล้วเมื่อไรการให้จะสมบูรณ์ตามกฎหมายกันเล่า

          (7) พึงสังเกตว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการฟ้องบังคับคดีตามสัญญาให้ เพราะสัญญาให้ยังไม่สมบูรณ์ จะฟ้องบังคับคดีโดยอาศัยสัญญาให้ยังไม่ได้ หากจะฟ้องก็ต้องฟ้องโดยอาศัยหลักการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไปเท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคแรก)การฟ้องให้จดทะเบียนนี้เป็นการฟ้องบังคับตามหลักการดังกล่าวเพื่อให้สัญญาให้สมบูรณ์ให้จงได้ แม้กรณีไม่ต้องด้วยตัวบทมาตรา 526เกี่ยวกับการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันแล้วแต่ผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้รับก็ตาม นอกจากนี้การที่ผู้รับชอบที่จะเรียกให้ผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้รับ (ถ้าหากไม่ส่งมอบก็ย่อมฟ้องบังคับกัน) ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติชำระแก่ผู้รับโดยที่กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะสัญญาให้ ฉะนั้นการฟ้องบังคับให้ผู้ให้ไปจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงมิใช่กรณีที่แตกต่างกันไปย่อมบังคับกันได้ เช่นกรณีไม่ชำระหนี้กันตามปกติธรรมดา

          (8) ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ ที่จะฟ้องบังคับคดีให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นข้อเท็จจริงก็ต้องได้ความว่าคู่กรณีประสงค์ที่จะยกที่พิพาทให้แก่กันโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าหากไม่มีความประสงค์เจตนาดังกล่าวแล้วก็ย่อมจะฟ้องร้องกันไม่ได้ เพราะแสดงว่าคู่กรณีไม่ต้องการให้สัญญาให้สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้นเสียแล้ว ในข้อนี้พอเทียบได้กับสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคแรก เพราะถ้าหากไม่มีเจตนาจะทำเป็นหนังสือจดทะเบียนก็ย่อมเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรกไปทีเดียว ความประสงค์หรือเจตนาดังกล่าวย่อมพิเคราะห์ดูได้จากข้อเท็จจริง

           ไพจิตรปุญญพันธุ์
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 10:30:20


ความคิดเห็นที่ 3 (1444695)

ความสมบูรณ์ของสัญญาให้

สัญญาให้ย่อมสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ มาตรา 523 ซึ่งการส่งมอบนั้นจะเป็นการที่ผู้ให้หยิบยื่นทรัพย์สินให้โดยตรง เช่น ให้แหวนก็ส่งมอบแหวนใส่ในมือผู้รับหรือกระทำโดยปริยายก็ใช้ได้ เช่น ผู้ให้กล่าวคำยกทรัพย์ให้โดยชัดเจน และในเวลาเดียวกันก็มอบลูกกุญแจสำหรับไขตู้หรือที่เก็บทรัพย์ได้ แต่หลักนี้มีข้อยกเว้นอยู่2 ประการคือ

1. การให้สิทธิอันมีหนังสือเป็นตราสารสำคัญ มาตรา 524 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และมิได้มีหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยแล้ว การให้ย่อมไม่สมบูรณ์ซึ่งทั้งนี้หมายถึงสิทธิไม่ใช่ให้ตัวทรัพย์สินโดยตรง สิทธิอันมีหนังสือตราสารสำคัญนั้น จะเป็นชนิดที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำตราสารหรือไม่ก็ตาม เมื่อให้แก่กันจะต้องส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และผู้ให้มีหนังสือบอกกล่าวการให้ไปยังลูกหนี้ตามตราสารนั้นด้วย

2. การให้อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์(ชนิดพิเศษ) ซึ่งถ้าซื้อขายกันต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรา 456 วรรค1 ก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นเดียวกันกับการทำสัญญาซื้อขายจึงจะสมบูรณ์ตามมาตรา 525 ผู้ให้จะเพียงแต่ส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ หรือมอบหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน เช่น โฉนดให้แก่ผู้รับเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ แต่การให้นี้เมื่อได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว แม้จะยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ก็เปลี่ยนมือไปยังผู้รับแล้ว

ข้อสังเกต การอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงาน ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 10:30:47


ความคิดเห็นที่ 4 (1444696)


ความหมายของคำว่า "ไม่สมบูรณ์" "ไม่บริบูรณ์" และ "โมฆะ"
ในตัวบทกฎหมายมีคำอยู่สามคำที่นักเรียนกฎหมายมักไม่ค่อยมีความเข้าใจ และบางทีคิดว่าเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน ได้แก่คำว่า "ไม่สมบูรณ์" "ไม่บริบูรณ์" และ "โมฆะ" อีกทั้งเมื่อไปอ่านคำพิพากษาเกี่ยวกับคำว่า "ไม่บริบูรณ์" แล้วยังพบว่า ศาลฎีกาใช้คำว่าไม่สมบูรณ์ประกอบด้วย เช่น "ไม่สมบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ" จึงทำให้นักเรียนกฎหมายเกิดความสับสน แท้จริงแล้วคำสองคำนี้มีความหมายต่างกัน


คำว่า "ไม่สมบูรณ์" หมายถึง สัญญานั้นไม่เกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุองค์ประกอบแห่งการเกิดขึ้นของสัญญานั้นไม่ครบ โดยปกติ สัญญาเกิดเมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน เว้นแต่ในสัญญาบางอย่างที่กฎหมายกำหนดแบบของสัญญา (แบบของสัญญามิใช่แบบของนิติกรรม เป็นคนละกรณีกัน) แบบของนิติกรรมหากไม่ทำตามแบบแล้วกฎหมายบัญญัติไว้เป็นโมฆะ

แบบของนิติกรรมมีสี่อย่างได้แก่


๑. ทำเป็นหนังสือ
๒. ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
๓. จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

๔. ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่


ส่วนกรณีสัญญานั้น เกิดขึ้นโดยองค์ประกอบคือคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน เว้นแต่ในบางสัญญา การส่งมอบถือเป็นอีกหนึ่งองค์ของสัญญา ถ้าแม้คำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน แต่ถ้ากฎหมายกำหนดแบบของสัญญาให้ส่งมอบด้วย ถ้ามิได้มีการส่งมอบ สัญญาย่อมไม่เกิด กฎหมายใช้คำว่า "ไม่สมบูรณ์"


มาตรา 523 การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งม​อบทรัพย์สิน ที่ให้

มาตรา 525 การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื​้อขายกันจะต้องทำเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนัก​งานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า​หน้าที่ใน กรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอ​บ

มาตรา 462 ที่บัญญัติว่า “การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ”

คำว่าอยู่ในเงื้อมมือ หมายถึง อยู่ในความครอบครองดูแลของผู้ซื้อ

จะเห็นได้ว่า มาตรา 523 นั้น บัญญัติให้การส่งมอบเป็นองค์ประกอบของสัญญาให้ ถ้าไม่ส่งมอบให้อยู่ในเงื้อมมือของผู้รับ (นำมาตรา 462 มาใช้โดย Analogy )สัญญาให้ย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีการให้กันเกิดขึ้นเลย


ตัวอย่าง ดำ กล่าวกับแดงว่าดำให้โทรศัพท์มือถือแก่แดง ตราบที่ดำยังไม่ส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้แก่แดงกรรมสิทธิในโทรศัพท์ยังเป็นของดำอยู่ ยังไม่โอนไปยังแดง ซึ่งต่างจากสัญญาทั่วๆ ไปที่คำเสนอสนองถูกต้องตรงกันสัญญาย่อมเกิดโดยมิพักต้องส่งมอบ

มาตรา 525 ยังบัญญัติว่า การให้ทรัพย์สินที่การซื้อขายต้องทำตามแบบ หากได้ทำตามแบบแล้ว ถือว่ามีการส่งมอบแล้ว เช่น ดำ กล่าวกับแดงว่าดำยกที่ดินให้แดงหนึ่งแปลง ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่การซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อดำและแดงพากันไปทำตามแบบที่สำนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นของแดงโดยที่ดำไม่ต้องไปยกที่ดินมาส่งมอบให้แดงอีก

ดังนั้น คำว่า "ไม่สมบูรณ์" จึงแปลว่า สัญญานั้นไม่เกิดด้วยขาดองค์ประกอบการเกิดของสัญญานั่นเอง

คำว่า "ไม่บริบูรณ์" หมายถึง ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิ (บางท่านมักใช้คำว่า ไม่สมบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่มิใช่ไม่สมบูรณ์ในความหมายของกฎหมาย หากแต่ใช้โดยนัยเป็นคำทั่วไป ซึ่งผู้เขียนขอเลี่ยงไม่ใช้ด้วยการใช้คำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายจะทำให้เกิดความสับสน และเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง) แต่บริบูรณ์ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ


มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

เช่น ดำยอมให้แดงเดินผ่านที่ดินของตนเป็นภาระจำยอม ซึ่งกรณีนี้ต้องไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ดำและแดงไม่ได้ไปทำ ดังนี้ ระหว่างดำและแดงเป็นบุคคลสิทธิ แดงย่อมเดินผ่านที่ดินของดำได้ แต่เมื่อดำได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้ขาวแล้ว ขาวไม่อยู่ในบังคับสิทธิที่ต้องยอมให้แดงเดินผ่าน ขาวจะปิดกั้นทางเดินเสียก็ย่อมทำได้ เพราะสิทธิของแดงเป็นแต่เพียงบุคคลสิทธิที่มีเหนือดำเท่านั้น มิใช่ทรัพยสิทธิที่มีเหนือทางภาระจำยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6208/2545
จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินก​ับโจทก์ โดยมีข้อตกลงกันในวันกำหนดโอนที​่ดินที่จะซื้อจะขายดังกล่าวว่า จำเลยยินยอมที่จะจดทะเบียนภารจำ​ยอมเพื่อให้โจทก์มีสิทธิในการใช​้ถนนเข้า - ออก จากที่ดินของโจทก์ในที่ดินที่เป​็นถนนทุกแปลงที่จำเลยมีกรรมสิทธ​ิ์ เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เ​กิดบุคคลสิทธิขึ้นในอันที่จะเรี​ยกร้องบังคับกันได้ระหว่างโจทก์​กับจำเลย แม้โดยสัญญานี้โจทก์จะไม่ได้มาซ​ึ่งทรัพย์สิทธิในทางภารจำยอมโดย​บริบูรณ์ เพราะไม่ได้จดทะเบียนการได้มากั​บพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎ​หมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่บทมาตรานี้ก็หาได้บัญญัติให้​เป็นผลไปถึงว่านิติกรรมหรือสัญญ​านั้นเป็นโมฆะเสียเปล่าไปไม่ สัญญาดังกล่าว จึงยังคงมีผลก่อให้เกิดบุคคลสิท​ธิในอันที่จะเรียกร้องบังคับกัน​ได้ในระหว่างคู่สัญญาและเมื่อที​่ดินของจำเลยต้องตกอยู่ในภารจำย​อม ภารจำยอมดังกล่าวจะสิ้นไปก็ด้วย​เหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิ​ชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399 เมื่อภารจำยอมยังไม่สิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเล​ยจดทะเบียนภารจำยอมตามข้อตกลงท้​ายสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้


คำว่า "โมฆะ" หมายถึง ความสูญเปล่า เสียเปล่ามาแต่เริ่มต้น เสมือนนิติกรรมนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น เสมือนกับว่านิติกรรมนั้นไม่เกิดขึ้นเลย แท้จริงนิติกรรมได้เกิดขึ้นเพราะสัญญาเกิดตามหลักทั่วไปคือคำเสนอสนองถูกต้องตรงกันเกิดเป็นสัญญาแล้ว แต่นิติกรรมนั้นเสียเปล่าเพราะไม่ได้ทำตามแบบ เช่น ดำทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากแดงแต่มิได้ทำเป็นหนังสือต่อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ


มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สิน ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สิน นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน เท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

จึงต้องถือเสมือนสัญญาเช่าซื้อมิได้เกิดขึ้นเลย บางท่านไปเข้าใจว่า การใช้คำว่า เสมือนไม่เกิดเป็นการใช้คำฟุ่มเฟือย ทำให้สับสน แท้จริงแล้วไม่ใช่ เป็นการใช้ถ้อยคำโดยชอบแล้ว เพราะการไม่เกิดขึ้นเลยคือนัยของคำว่า "ไม่สมบูรณ์" อันมีองค์ประกอบของการเกิดขึ้นของสัญญาด้วยการส่งมอบบังคับอยู่ ส่วนการถือเสมือนไม่เกิดขึ้นเลยนั้น ไม่มีองค์ประกอบการเกิดขึ้นของสัญญาใดๆ บังคับอยู่ สัญญาได้เกิดขึ้นแล้วจากคำเสนอและสนองที่ถูกต้องตรงกัน เพียงแต่บังคับไม่ได้เสมือนกับไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะไม่ได้ทำตามแบบแห่งนิติกรรมต่างหาก ผู้เขียนจึงขอยืนยันว่า การใช้คำว่า เสมือนไม่เกิดขึ้นเลยในกรณีโมฆะกรรมนั้นชอบแล้ว

กล่าวโดยสรุป

ไม่สมบูรณ์ คือ การไม่เกิดขึ้นเลยของสัญญา เพราะเหตุไม่ครบองค์ประกอบแห่งการเกิดขึ้นของสัญญา

ไม่บริบูรณ์ คือ ความไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ แต่สัญญาได้เกิดขึ้นครบถ้วนและบริบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิแล้ว

โมฆะ คือ ความเสียเปล่าของนิติกรรมสัญญาที่ถือเสมือนนิติกรรมสัญญานั้นไม่เกิดขึ้นเลย เพราะไม่ได้ทำตามแบบแห่งนิติกรรม (การเกิดของสัญญาครบองค์แล้ว)

คำสามคำนี้จึงมีความหมายที่ต่างกัน และนักเรียนกฎหมาย นักกฎหมายทั่วไป พึงทำความเข้าใจเสียให้ถูกต้อง

แหล่งที่มาข้อมูล
http://natjar2001law.blogspot.com/2011/07/blog-post_26.html

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 10:52:22


ความคิดเห็นที่ 5 (1444708)

   การทำความดีที่ประเสริฐที่สุดก็คือการให้ ไม่ว่าจะให้สิ่งของ หรือว่าให้อภัยต่างๆ และการให้จะต้องไม่ใช่เพื่อหวังสิ่งตอบแทน ผู้ให้จึงจะมีความสุข
               แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ยังไม่สามารถตัดกิเลสตัณหาได้ดังเช่นพระอรหันต์ การให้จึงมักจะหวังสิ่งตอบแทนไม่มากก็น้อย บางครั้งก็หวังเพื่อให้ผู้รับให้ความรักตอบกลับมา
               อย่างเช่น น้ำทิพย์กับน้ำหวาน ที่เป็นเพื่อนรักกันมาก น้ำทิพย์จึงตกลงใจทำหนังสือยกที่ดินให้กับน้ำหวานด้วยความเสน่หา เมื่อเวลาผ่านไปนานทำให้ทั้งสองคนรู้ว่า ไปกันไม่ได้ เพราะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และน้ำทิพย์ได้รู้จักน้ำหวานมากขึ้น น้ำหวานเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ได้รักใครจริงนอกจากรักตัวเอง ทำเพื่อตัวเองซะมากกว่า น้ำทิพย์จึงไม่ยอมยกที่ดินให้กับน้ำหวานตามที่ได้ตกลงกันไว้
น้ำหวานอ้างว่าได้ทำหนังสือยกให้แล้ว จะเปลี่ยนใจไม่ให้ไม่ได้ ถ้าหากน้ำทิพย์ไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายก็ไม่อาจโต้แย้งกับน้ำหวานได้ว่า การให้อสังหาริมทรัพย์ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ย่อมไม่สมบูรณ์ น้ำหวานไม่สามารถบังคับให้น้ำทิพย์ยกที่ดินให้ตนได้ ตามข้อกฎหมายดังต่อไปนี้
               มาตรา 525 บัญญัติว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
มาตรา 526 บัญญัติว่า “ถ้าการให้ทรัพย์สิน หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้
               มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2508 เกี่ยวกับการให้ที่ดิน ดังนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้รับมรดกที่ดินสองแปลงและปกครองร่วมกันมาโจทก์ได้ขอแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้เป็นส่วนสัด จำเลยตกลงจะแบ่งให้แล้วก็ไม่แบ่งกลับไปแบ่งระหว่างจำเลยกันเองเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้แบ่งหรือขายเอาเงินแบ่งกัน
               จำเลยสู้ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวบุกร้างถางป่าทำกินมากว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่มรดก โจทก์ไม่ได้รับมรดก จำเลยเคยตกลงจะแบ่งที่ดินให้โจทก์เพราะเห็นเป็นน้องร่วมมารดา แต่ข้อตกลงนี้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จะขอให้บังคับมิได้
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทมิใช่มรดก พิพากษายกฟ้อง
               โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               โจทก์ฎีกา  ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ที่จำเลยบุกร้างถางป่าและได้ครอบครองตลอดมามิใช่ที่ดินมรดก การที่จำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอแบ่งที่พิพาทต่อสำนักงานที่ดินให้โจทก์แล้วกลับใจไม่ให้ คำมั่นหรือคำรับรองว่าจะให้ที่ดินดังกล่าว มิได้จดทะเบียนไว้ จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องประการใด
               พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 11:50:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล