ReadyPlanet.com


ฟ้องหย่าเรียกค่าเลี้ยงดู


ดิฉันทำงานบริษัทเงินเดือน 30,000 กว่าบาท จดทะเบียนสมรสกับสามีรับราชการ เงินเดือน 30,000 กว่าบาท ไม่มีลูกด้วยกัน จดทะเบียนสมรสได้ 2 ปี ทำงานคนละจังหวัด สามีไม่เคยช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวใดๆ เลย เพราะต่างคนต่างทำงานและมีเงินเดือน ตอนนี้จับได้ว่าสามีมีเมียน้อย เมียน้อยรับราชการเหมือนสามี เงินเดือน 10,000 กว่าบาท ดิฉันจะฟ้องมีหลักฐานพอที่จะฟ้องหย่าแล้ว รบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ

1. ดิฉันสามารถฟ้องเมียน้อยให้โดนไล่ออกจากงานได้ไหมคะ จะฟ้องเรียกเงินด้วย ดิฉันจะฟ้องได้ประมาณเท่าไหร่ เรียกไป 2,000,000 บาท (เรื่องเงินไม่สำคัญเท่าไหร่แต่ต้องการให้โดนไล่ออกจากงานค่ะ)

2. สามีเขาขอหย่าโดยยินยอมให้บ้านและรถยนต์ซึ่งเขาส่งอยู่ แต่ดิฉันไม่ยอม เพราะจะฟ้องเอาเงินค่าเลี้ยงดูด้วยเลยตกลงกันไม่ได้ ดิฉันจึงจะฟ้องเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูเรียกไป 5,000,000 บาท (กลัวได้น้อยเพราะไม่มีลูกด้วยกัน)
3. ตอนนี้สามีส่งบ้านและรถ ซึ่งเขาซื้อก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับดิฉัน เป็นชื่อของสามี ถ้าฟ้องหย่าแล้วดิฉันจะได้ทั้งบ้านและรถหรือเปล่าคะ
4. สามีจะโดนไล่ออกจากงานหรือเปล่าคะ (ดิฉันร้องเรียนทางวินัยกับผู้บังคับบัญชาสามีด้วย)
5. ความเป็นไปได้ที่ศาลจะตัดสินให้ดิฉันได้เงินจากทั้งสามีและเมียน้อย ดิฉันเรียกมากเกินไปหรือไม่

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ จากใจ :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-16 13:38:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1440127)

1. ดิฉันสามารถฟ้องเมียน้อยให้โดนไล่ออกจากงานได้ไหมคะ จะฟ้องเรียกเงินด้วย ดิฉันจะฟ้องได้ประมาณเท่าไหร่ เรียกไป 2,000,000 บาท (เรื่องเงินไม่สำคัญเท่าไหร่แต่ต้องการให้โดนไล่ออกจากงานค่ะ)

ตอบ ต้องการให้โดนไล่ออกจากงาน ต้องไปร้องเรียนที่ผู้บังคับบัญชีของหญิงคนนั้นครับ

2. สามีเขาขอหย่าโดยยินยอมให้บ้านและรถยนต์ซึ่งเขาส่งอยู่ แต่ดิฉันไม่ยอม เพราะจะฟ้องเอาเงินค่าเลี้ยงดูด้วยเลยตกลงกันไม่ได้ ดิฉันจึงจะฟ้องเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูเรียกไป 5,000,000 บาท (กลัวได้น้อยเพราะไม่มีลูกด้วยกัน)

ตอบ ที่ถูกต้องคือค่าเลี้ยงชีพ เพราะเมื่อมีการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วย่อมไม่มีหน้าที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันอีกต่อไป เว้นแต่คุณหมายถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

สำหรับจำนวนตัวเลขจะตั้งขึ้นมาเท่าใดก็ตามเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องพิสูจน์ความเสียหาย ส่วนศาลจะพิพากษาให้เท่าใดอยู่ที่พฤติการณ์แวดล้อมของครอบครัว แต่ที่แน่ ๆ ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง

3. ตอนนี้สามีส่งบ้านและรถ ซึ่งเขาซื้อก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับดิฉัน เป็นชื่อของสามี ถ้าฟ้องหย่าแล้วดิฉันจะได้ทั้งบ้านและรถหรือเปล่าคะ

ตอบ ถ้าไม่มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษเป็นอย่างอื่น ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก่อนสมรสย่อมเป็นสินส่วนตัว เมื่อหย่ากันก็ยังเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นอยู่ตลอดไป คุณจึงไม่มีสิทธิที่จะได้นั้นนอกจากทำสัญญาจะยกให้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคิดว่าคงยากครับ

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดย การให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น

4. สามีจะโดนไล่ออกจากงานหรือเปล่าคะ (ดิฉันร้องเรียนทางวินัยกับผู้บังคับบัญชาสามีด้วย)
 
ตอบ ตรงนี้ตอบไม่ได้ครับ ผู้ที่พิจารณาคือผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่เท่าที่ตอบได้คือเมื่อสามีไม่มีงานทำไม่มีรายได้ เขาอาจไม่มีเงินค่าเลี้ยงชีพให้คุณอีกต่อไป
 
5. ความเป็นไปได้ที่ศาลจะตัดสินให้ดิฉันได้เงินจากทั้งสามีและเมียน้อย ดิฉันเรียกมากเกินไปหรือไม่
 
ตอบ  ได้ครับแต่จำนวนเท่าใดนั้นตอบไม่ได้ครับเข้าใจว่าน่าจะเป็นหลักแสนครับคงไม่ถึงหลักล้านครับ(ความเห็น)
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 11:43:45


ความคิดเห็นที่ 2 (1440128)

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

สามีภริยาชอบด้วยกฎหมายทำสัญญายอมให้ทรัพย์สินส่วนตัวของสามีตกเป็นของภริยาได้หรือไม่ และก่อนที่การสมรสจะสิ้นสุดสามีบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้หรือไม่? มีข้อตกลงกันว่าถ้าสามีประพฤติผิดศีลธรรมอันดีเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงให้ทรัพย์สินของสามีตกเป็นของภริยา โดยนำสัญญาระหว่างสมรสไปฟ้องศาลและบังคับคดีต่อไปได้ และคู่สัญญาจะไม่บอกล้างหรือยกเลิกภายใน 20 ปี  ในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดไว้ว่า  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดก็ได้แต่ต้องก่อนหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้นข้อตกลงว่าไม่ให้คู่สัญญาบอกล้างภายใน 20 ปีนับแต่วันทำสัญญานั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ ในคดีนี้ได้ความว่าสามีบอกล้างสัญญาดังกล่าวระหว่างที่การสมรสยังไม่สิ้นสุดข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันสามี ในเรื่องการแบ่งสินสมรสนั้นโจทก์ต้องสืบพยานตามคำฟ้องของตนการนำสืบนอกเหนือคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ในเรื่องค่าทดแทนที่ภริยาจะเรียกจากสามีและหญิงอื่นหรือเมียน้อยได้มากน้อยเพียงใดนั้น ในคดีนี้ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากทั้งสองคนเป็นเงิน 5,000,000 บาท ศาลเห็นว่าเมียน้อยทราบดีว่าฝ่ายชายมีภริยาอยู่แล้วยังไม่เลิกจึงกำหนดให้สามีจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท ให้เมียน้อยจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท สำหรับการเรียกค่าเลี้ยงชีพนั้นต้องปรากฏว่าเมื่อการสมรสสิ้นสุดทำให้ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพยากจนลงศาลจะกำหนดให้โดยพิจารณาถึงฐานะผู้ให้และผู้รับ คดีนี้ภริยาลาออกจากงานมาช่วยสามีจึงถือว่าภริยามีสิทธิเรียกได้เดือนละ 20,000 บาท แต่เรียกได้นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาไม่ใช่เรียกได้นับแต่วันฟ้อง และการเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนี้กฎหมายบอกว่าสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2551

แม้สัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันระหว่างที่เป็นสามีภรรยากันจะมีข้อตกลงห้ามไม่ให้บอกล้างหรือยกเลิกสัญญามีกำหนดเวลา 20 ปี ก็ตามแต่ก็เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกัน ข้อตกลงจะไม่บอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรส จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้

          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ การกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ได้ทำงานเพราะหลังสมรสโจทก์ลาออกจากงานมาช่วยดูแลคลินิกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกดังกล่าวประกอบกับรายได้ของจำเลยที่ 1 ตลอดจนค่าครองชีพในปัจจุบันประกอบกัน

          การกำหนดค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา 1526 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่คำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันถึงที่สุด
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งห้าแปลงให้แก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 35,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะสมรสใหม่ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ จำนวน 5,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรส คือ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ค - 6952 กรุงเทพมหานคร บ้านพร้อมที่ดินที่หมู่บ้านลลิลกรีนวิลล์ ตั้งอยู่ถนนอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และคลินิกกรุงเทพราม 2 แก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาระหว่างสมรสกับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2546 ตามฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่โจทก์แล้ว สัญญาระหว่างสมรสจึงสิ้นผลผูกพันและโจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินตามสัญญาระหว่างสมรสได้ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ค - 6952 กรุงเทพมหานคร และบ้านพร้อมที่ดินที่หมู่บ้านลลิลกรีนวิลล์นั้น ไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นของบุคคลอื่น ส่วนคลินิกกรุงเทพราม 2 เป็นกิจการที่ตั้งขึ้นระหว่างสมรสจริงโดยเช่าอาคารจากบุคคลอื่นเป็นสถานที่ประกอบกิจการ แต่โจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลยที่ 1 และตกลงให้กิจการคลินิกกรุงเทพราม 2 ทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อนฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก ค่าเลี้ยงชีพสูงเกินความจริงสมควรกำหนดให้เพียงไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ค่าทดแทนจำนวน 3,000,000 บาท เป็นจำนวนสูงเกินไป หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิด ก็ไม่ควรเกิน 10,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 374,439 บาท เพื่อนำมาใช้จ่ายร่วมกันในระหว่างสมรสดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันชำระหนี้ด้วย

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีคู่สมรสแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ หากต้องชดใช้ค่าทดแทนแล้วก็ไม่ควรเกิน 20,000 บาท

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันฟ้องตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์สมรสใหม่ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำนวน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ จำนวน 200,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน จำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
                         โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน คู่ความไม่อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ระหว่างสมรสโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายอมให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตกได้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาระหว่างสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวแล้ว และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้แต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาในขณะที่โจทก์ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 มีปัญหาเห็นสมควรวินิจฉัยเป็นข้อแรกกตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาระหว่างสมรสมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเงื่อนไขในสัญญาไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ตามหนังสือสัญญาระหว่างสมรส มีใจความว่า ข้อ 1. ผู้ให้สัญญา (จำเลยที่ 1) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวม 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินส่วนตัว โดยผู้ให้สัญญาจะไม่ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้ เช่าซื้อ จำนอง หรือโอนสิทธิในที่ดินหรือให้เช่าที่ดินเกินกว่า 3 ปี หรือนำที่ดินดังกล่าวไปเป็นประกันใด ๆ กับบุคคลภายนอกเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับสัญญา (โจทก์) ก่อน... ข้อ 3 ผู้ให้สัญญาจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมอันดีระหว่างสามีภริยาอันเป็นเหตุให้สิ้นสุดแห่งการสมรสได้ กรณีที่ผู้ให้สัญญาผิดสัญญาข้างต้นยอมให้ทรัพย์สินตาม ข้อ 1. ตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับสัญญาทันที ให้ผู้รับสัญญาดำเนินการทางศาลฟ้องบังคับโอนสิทธิได้ตามสัญญานี้ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน แม้ในสัญญาดังกล่าวจะมีข้อตกลงที่จะไม่ให้บอกล้างหรือยกเลิกสัญญามีกำหนดเวลา 20 ปีก็ตาม แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม และเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกันได้ ข้อตกลงจะไม่บอกล้างหรือยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ หนังสือสัญญาระหว่างสมรส จึงไม่มีผลผูกพันอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า สินสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินในคลินิกกรุงเทพราม 2 ได้มีการแบ่งปันกันแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนฟ้องโจทก์ขอส่วนแบ่งทรัพย์สินในคลินิกกรุงเทพราม 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จ่ายแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 340,000 บาท ให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2546 เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีปัญหาครอบครัวจนต้องมีการทำหนังสือสัญญาระหว่างสมรสเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2546 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 จ่ายแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 340,000 บาท จึงน่าเชื่อว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินในคลินิกกรุงเทพราม 2 ต่อกันตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง ที่โจทก์อ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นการชำระหนี้เงินยืม จึงเลื่อนลอยไม่สมเหตุผล พยานจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินส่วนตัวจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งสินสมรสเกี่ยวกับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส แต่ชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ตนได้ขายรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิอันเป็นสินส่วนตัวเป็นเงิน 200,000 บาท และได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อรถคันใหม่ แล้วมีการเปลี่ยนรถเรื่อยมาซึ่งปัจจุบันรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส จะมีราคาเท่าใดไม่ทราบ และจำเลยที่ 1 ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปแล้ว เห็นว่า การนำสืบถึงสินส่วนตัวของโจทก์เป็นการนำสืบนอกเหนือจากคำฟ้อง จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินสินส่วนตัวของโจทก์ จำนวน 200,000 บาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

          มีปัญหาต่อไปว่า ค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์นั้นเหมาะสมหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภริยาในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 สามี และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ โดยมาตรา 1525 บัญญัติว่า ค่าทดแทนดังกล่าวแล้วให้ศาลวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์ และให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เห็นว่า ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันนั้น จำเลยที่ 1 มีโจทก์เป็นภริยา และจำเลยที่ 2 มี นายธีรวัฒน์เป็นคู่หมั้นซึ่งบุคคลทั้งสี่ได้พบกันเพื่อตกลงปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพครอบครัวและความเสียหายต่อกาย ประกอบกับชื่อเสียงเกียรติยศของโจทก์แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท นับว่าเหมาะสมชอบธรรมดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต่อไปตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องสูงเกินส่วนและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 บัญญัติว่าในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ...เห็นว่า กรณีภายหลังสมรสโจทก์ได้ลาออกจากงานและมาช่วยดูแลคลินิกกรุงเทพราม 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ได้ทำงาน จำนวนรายได้ของจำเลยที่ 1 ตลอดจนค่าครองชีพในปัจจุบันประกอบกันแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 20,000 บาท นับว่าสมควรไม่สูงเกินส่วนแต่อย่างใด แต่การกำหนดให้ค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา 1526 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องนับแต่วันที่คำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันถึงที่สุด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจึงไม่ถูกต้องเห็นสมควรแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

          ปัญหาข้อสุดท้ายตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระเงินกู้ที่มีต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินดังกล่าวโดยโจทก์เป็นผู้ให้ความยินยอมตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2544 และนำเงินมาใช้จ่ายเกี่ยวกับคลินิกกรุงเทพราม 2 แต่ปัจจุบันยังชำระหนี้คืนไม่ครบถ้วน เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินในคลินิกกรุงเทพราม 2 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2546 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ดังนั้นโจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดชำระเงินกู้รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นดุจกัน”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้คืนเงินสินส่วนตัว 200,000 บาทแก่โจทก์แต่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากที่แก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - สิริรัตน์ จันทรา )

     มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกัน ในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใด ที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการ เป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต
     มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39,มาตรา 1598/40 และ มาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
     (วรรค 2) สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 11:51:02


ความคิดเห็นที่ 3 (1440130)

ร้องเรียนกล่าวโทษสามีต่อผู้บังคับบัญชา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2534

การที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันเป็นเหตุให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยนั้น เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ย่อมมีความชอบธรรม ที่จะป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(2).

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน จำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์อย่างร้ายแรงกล่าวคือ จำเลยได้หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนทางชู้สาวกับเพื่อนร่วมงานเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียบหยามโจทก์ถือว่าจำเลยประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง โจทก์ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกสั่งให้ระงับการขึ้นเงินเดือนและไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ขอให้โจทก์และจำเลบยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่า ณ ที่ว่าการเขตพระนครกรุงเทพมหานคร ถ้าจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้บุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ประพฤติเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยไม่เคยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์โจทก์มีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นและทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยเพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยโดยชอบ จำเลยจึงนำความไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ จนกระทั่งมีการสอบสวนโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ถูกตัดเงินเดือนร้อยละสิบ เป็นเวลา 2 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เพียงว่าการที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามนัยแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) หรือไม่ ส่วนเหตุฟ้องหย่าฐานกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตามที่โจทก์ฟ้องมาด้วยนั้น โจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงให้ชัดแจ้งจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ได้พิจารณาหนังสือร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วมีใจความสำคัญว่าจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์มีบุตรด้วยกัน 3 คน (ถึงแก่กรรมแล้ว 1 คน) เคยอยู่กินร่วมกันอย่างปกติสุข แต่ปัจจุบันครอบครัวของจำเลยอยู่ในสภาพบ้านแตกเพราะโจทก์ได้ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางเกษร  ซึ่งรับราชการเป็นครูโรงเรียนเดียวกันกับโจทก์ ไม่ยอมรับคำตักเตือนจากผู้ใดตั้งแต่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วโจทก์ขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัวทุกประการ จำเลยกับบุตรได้รับความเสียหายขอให้สอบสวนลงโทษบุคคลทั้งสองฐานกระทำผิดวินัยเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยและจำเลยมีนางสาววรรณี  ผู้อำนายการโรงเรียน...มาเบิกความเป็นพยานว่า ในตอนแรกจำเลยเพียงแต่พูดปรับทุกข์ว่าการกระทำของโจทก์กับนางเกษรทำให้ครอบครัวของจำเลยเดือดร้อนขอให้ช่วยตักเตือนบุคคลทั้งสอง นายกลึง  พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเบิกความรับข้อเท็จจริงตามกันว่าก่อนจำเลยจะร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์นั้น จำเลยเคยขอให้ตักเตือนโจทก์เรื่องที่โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางเกษร พยานเคยเรียกโจทก์มาตักเตือน แต่เรื่องก็ยังไม่ยุติ จึงฟังได้ว่า จำเลยนำวิธีการที่เบากว่าการร้องเรียนกล่าวโทษมาใช้แล้วแต่ไม่ได้ผลเห็นว่าจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ย่อมมีความชอบธรรมที่จะป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวต่อกันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ ประกอบกันเรื่องที่จำเลยร้องเรียนนั้นมีมูล ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากมีการสอบสวนพยานหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียนแล้วสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติได้มีความเห็นว่า โจทก์กับนางเกษรมีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดวินัย ตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 กรณีกระทำการซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ลงโทษภาคทัณฑ์ และกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้เพิ่มโทษโดยให้ตัดเงินเดือนของบุคคลทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น..."

พิพากษายืน.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 12:09:59


ความคิดเห็นที่ 4 (1440133)

ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา
ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย ไม่เป็นประการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้สามีมีสิทธิฟ้องหย่าภริยาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์อีก แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่ คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นซึ่งคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว ก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้จึงชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจาก ทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็น ผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้สมาคมฯ จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ร่วมประเวณีกันเกิดบุตรคือจำเลยที่ 2 และศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องไม่รับจำเลยที่ 2เป็นบุตรในคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำเหตุที่จำเลยที่ 1 ไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพราะโจทก์ไม่ยอมอุปการะเลี้ยงดูจำเลยทั้งสองและโจทก์ดำเนินคดีฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 กับฟ้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะมาแล้วถึง 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 ยังรักและห่วงใยโจทก์ไม่ต้องการหย่ากับโจทก์ แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 และเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิเบิกเงินช่วยเหลือบุตรจากทางราชการขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2นับแต่แรกเกิดจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 200,000 บาท กับจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 อีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะ และให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และอีกเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะกับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522จำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2523 ระหว่างที่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์และศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างข้อเท็จจริงใหม่ที่จะพิสูจน์ตามหลักทางแพทย์ คือระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยถูกต้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2538 เพื่อประกอบการนำสืบในข้อดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มีอยู่และต้องนำสืบเพื่อประโยชน์ของโจทก์โจทก์เพิ่งทราบเมื่อศาลชี้สองสถานแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ นั้นเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์นั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่3471/2526 ของศาลฎีกา ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ.เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526ของศาลฎีกา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยมาแล้วในคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกาดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ดังนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว

ที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นการประพฤติชั่วทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงถูกดูถูกเกลียดชังเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ นั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์ เพราะประสงค์จะได้เงินเดือนโจทก์ครึ่งหนึ่ง และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรซึ่งรองศาสตราจารย์วิมลศิริ ชำนาญเวช นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 12 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปภัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย ซึ่งสืบเนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หาได้เป็นประการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ไม่

พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 88 เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความ ของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิงความเห็น ของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งหรือความเห็นของผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยแสดงเอกสารหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง และรายชื่อ ที่อยู่ของบุคคล ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ วัตถุ หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือขอให้ศาลไปตรวจ หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล

มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัย เหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 12:25:26



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล