ReadyPlanet.com


สัญญากู้ยืมเงิน คนให้กู้ยืมเงินฟ้องไม่ได้ คนถูกฟ้องไม่ได้กู้ยืมเงิน


ผู้ให้กู้เป็นคนให้เงินแก่ผู้กู้ แต่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับกับผู้อื่นที่เป็นนายหน้า ดังนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นผู้ส่งมอบเงินตัวจริงจะฟ้องผู้รับเงินได้หรือไม่???



ผู้ตั้งกระทู้ ดีมอท :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-14 14:54:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1438907)

การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น ต้องเป็นกรณีที่สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น โจทก์ต้องมีชื่อเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน แม้โจทก์จะเป็นคนส่งมอบเงินที่ให้กู้ยืมกันตามสัญญากู้ยืมก็ตาม แต่ถ้าในสัญญากู้ยืมเงินมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้ให้กู้และลงลายมือชื่อเป็นผู้ ให้กู้ กรณีเช่นนี้โจทก์ในคดีนี้จะนำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องผู้กู้หาได้ไม่ โจทก์ไม่มี่อำนาจฟ้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-14 14:58:08


ความคิดเห็นที่ 2 (1438908)

สัญญากู้ยืมเงินที่จะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องมีลักษณะอย่างไร??

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3784/2553

          จำเลยสละข้อต่อสู้ตามคำให้การที่ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอม คงเหลือข้อต่อสู้เพียงว่า จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ ไม่เคยกู้ยืมเงิน และรับเงินไปจากโจทก์ คำให้การของจำเลยที่เหลือหลังจากสละข้อต่อสู้บางข้อแล้ว ยังคงเป็นคำให้การที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธชัดแจ้งเป็นคำ ให้การที่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์

          โจทก์อ้างหนังสือสัญญากู้ยืมซึ่งมี ก. ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้ โดยโจทก์ไม่ได้ลงชื่อ ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีที่โจทก์นำสืบนั่นเอง หาเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนไม่ ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยกู้ยืมเงินจาก ก. และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกู้ยืมเงินจาก ก. เป็นการนำสืบและวินิจฉัยเพื่อเป็นการให้เหตุผลหรืออธิบายว่าจำเลยไม่ได้กู้ ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ จึงเป็นการนำสืบและวินิจฉัยอยู่ในกรอบของคำให้การที่ว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืม เงินและรับเงินไปจากโจทก์
________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 53,028 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 ธันวาคม 2545) ต้องไม่เกิน 3,029 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาท

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จำเลยกู้ยืมเงินจากนางกมลกาณจน์ มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนการกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้ยืมแก่โจทก์ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเฉพาะตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมายจ.3 เท่านั้น ต่อมาจำเลยสละข้อต่อสู้ตามคำให้การที่ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสาร ปลอม จึงคงเหลือข้อต่อสู้ตามคำให้การเพียงว่าจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์และไม่เคย รู้จักโจทก์ จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใดเท่านั้น คำให้การของจำเลยที่เหลือหลังจากสละข้อต่อสู้บางข้อแล้วนั้น ยังคงเป็นคำให้การที่ปฏิเสธฟ้องของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธชัดแจ้ง แล้ว เป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และจำเลยมีสิทธินำพยานเข้าสืบตามคำให้การได้ว่าจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ กับโจทก์ ไม่เคยกู้และรับเงินไปจากโจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ โดยต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ แต่ในการสืบพยานของโจทก์ โจทก์อ้างหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นพยานหลักฐาน ปรากฏว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับดังกล่าวมีนางกมลกาญจน์ลงชื่อใน ช่องผู้ให้กู้ โจทก์เองมิได้ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้หรือลงชื่อที่ใดในหนังสือสัญญากู้ยืม เงินเลย การที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจาก โจทก์ เป็นการวินิจฉัยแล้วรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนั่นเอง อันเป็นการวินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน หาเป็นการวินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบเกินเลยไปจากคำให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากนางกมลกาญจน์และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกู้ยืมเงินจาก นางกมลกาญจน์นั้น เป็นการนำสืบและวินิจฉัยเพื่อเป็นการให้เหตุผลหรืออธิบายว่าไม่ได้กู้ยืม เงินและรับเงินไปจากโจทก์ เป็นการนำสืบและวินิจฉัยอยู่ในกรอบของคำให้การที่ว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงิน และรับเงินไปจากโจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยนำสืบดังที่นำสืบมาได้ และศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยนอกคำให้การนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกา รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ นำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ประการอื่นนอกจากที่วินิจฉัยมาแล้วเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ประทีป ดุลพินิจธรรมา - สนอง เล่าศรีวรกต - สุริยง ลิ้มสถิรานันท์ )
ศาลแขวงพระนครเหนือ - นายอรรถการ ฟูเจริญ
ศาลอุทธรณ์กลาง - นายบุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์
_

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-14 14:59:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล