ReadyPlanet.com


ความผิดฐานให้ทรัพย์สินแก่พนักงานสอบสวน


 ข้อ 1.  ขณะที่ร้อยตำรวจตรีเพชร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจแห่งหนึ่งเข้าเวรตามหน้าที นางทองซึ่งมีอาการจมูกและปากบวมเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกนายดินสามีของตนทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บบริเวณจมูกและปาก ประสงค์จะให้ดำเนินคดีอาญาแก่ในดินตามกฏหมาย ข้อหาทำร้ายร่างกาย ขณะนี้นายดินหนีไปอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งที่จังหวัดอื่น ร้อยตำรวจตรีเพชร ไม่ยอมรับแจ้งความบอกว่าเป็นเรื่องครอบครัวให้ไปเจรจากันเอง อีก 3 วันต่อมา นางทองเข้ามาที่สถานีตำรวจอีกอีกครั้งหนึ่งและแจ้งความร้องทุกข์ในเรื่องเดิมอีก โดยขอให้ช่วยติดตามนายดินมาดำเนินคดีพร้อมรับมอบเงินค่าจะจ่ายให้ 10,000 บาท ร้อยตำรวจตรีเพรช ยอมรับแจ้งความและยอมรับเงินนั้นไว้ ต่อมาร้อยตำรวจตรีเพชรออกหมายเรียกนายดินตามกฏหมายแล้วนายดินไม่มาพบ จึงขอออกหมายจับตามกฏหมาย หลังจากได้หมายจับมาแล้วร้อยตำรวจตรีเพชรกับลูกน้องก็เดินทางไปติดตามนายดินโดยเสียค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและลูกน้องทั้งสิ้น 15,000 บาท แต่ตามไม่พบ เมื่อกลับมานางทองมอบเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินให้ร้อยตำรวจตรีเพชรอีก 5000 บาท และขอให้ร้อยตำรวจตรีเพรชพยามติดตามนายดินต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า ร้อยตำรวจตรีเพชรและนางทองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ภาคหนึ่ง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 :: วันที่ลงประกาศ 2017-10-31 05:50:21


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4085481)

 ธงคำตอบ

ขณะที่ร้อยตำรวจตรีเพชรปฎิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนนางทองผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวหาให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายดินตามกฏหมายข้อหาทำร้ายร่างกายโดยมีเจตนาจะให้ นายดินได้รับโทษ ร้อยตำรวจตรีเพชรพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของนางทองไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่ร้อยตำรวจตรีเพชร ไม่รับคำร้องทุกข์ในครั้งแรกของนางทองโดยอ้างว่าเป็นเรื่องครอบครัวให้ไปเจรจากันเองนั้น เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้นางทองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่ 7630 / 2549)
   การติดตามนายดินมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายเป็นการปฎิบัติหน้าที่ราชการในฐานะพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีสิทธิรับเงินค่าใช้จ่ายใดๆ จากนางทอง การที่ร้อยตำรวจตรีเพชร รับเงินค่าใช้จ่ายในการติดตามนายดินจากนางทองถือได้ว่าเป็นการยอมรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง แม้ว่าการนั้นจะชอบด้วยหน้าที่จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 201(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2488 / 2558) และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามมาตรา 157 ด้วย
 การที่นางทองมอบเงินค่าใช้จ่ายในการติดตามนายดินให้แก่ร้อยตำรวจตรีเพชรไม่เป็นความผิดฐานให้ทรัพย์สินแก่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 167 เพราะความผิดมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้พนักงานสอบสวนกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อการติดตามผู้กระทำผิดข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นหน้าที่โดยชอบของพนักงานสอบสวน จึงไม่ใช่การกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามบทมาตราดังกล่าว
 
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่งสมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 วิชากฏหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฏหมายปกครอง วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560
ผู้แสดงความคิดเห็น ภาคหนึ่งสมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 วันที่ตอบ 2017-10-31 05:54:50


ความคิดเห็นที่ 2 (4086158)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549 

โจทก์เมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน และโจทก์ได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) แต่เมื่อโจทก์กล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามมาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ถูกกล่าวหาดังกล่าว จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 (อ่านฉบับย่อยาว)
 
ผู้แสดงความคิดเห็น ฎีกาที่ 7630/2549 วันที่ตอบ 2017-11-03 08:55:53


ความคิดเห็นที่ 3 (4086159)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2558 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งจำเลยให้เป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงในโครงการน้ำมันสีเขียว โดยจำเลยมีหน้าที่จัดเจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำไปตรวจสอบว่า เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงได้เดินทางไปถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรด้วยความเรียบร้อย โดยมีน้ำมันเชื้อเพลิงครบตามจำนวนที่ได้รับมาจากคลังน้ำมันหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้วก็จะลงลายมือชื่อในใบกำกับการขนส่งน้ำมันดีเซล หลังจากนั้นเรือดังกล่าวจึงสามารถถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขนส่งได้ การตรวจสอบการขนส่งน้ำมันดีเซลในโครงการน้ำมันสีเขียวเพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบจำหน่ายในราชอาณาจักร หรือนำน้ำมันดังกล่าวกลับเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างหนึ่งในงานปราบปรามการกระทำความผิด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันไปจนถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิรับเงินค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำมันดีเซล การที่จำเลยรับเงินแล้วสั่งการให้เจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แม้จะนำเงินมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในเรือบรรทุกน้ำมันก็ตาม ก็เป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก  (อ่านฉบับย่อยาว)
ผู้แสดงความคิดเห็น ฎีกาที่ 2488/2558 วันที่ตอบ 2017-11-03 08:58:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล