ReadyPlanet.com


การแบ่งมรดก


การแบ่งมรดก
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  711/2545
 
          คดีขอตั้งผู้จัดการมรดกศาลมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับการตั้งและถอนผู้จัดการมรดกเท่านั้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกกับทายาทบางคนไม่สามารถตกลงแบ่งที่ดินมรดกได้ ผู้ร้องขอนำที่ดินมรดกออกขายโดยประมูลราคากันเองหรือนำออกขายทอดตลาดนั้น ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการมรดกทั้งสิ้นซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของผู้จัดการมรดกที่สามารถกระทำได้เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 อยู่แล้ว กรณีไม่ใช่อำนาจของศาลที่จะสั่งให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการตามขอหากผู้ร้องไม่อาจจัดการเช่นนั้นได้เพราะเหตุทายาทบางคนขัดขวางก็เป็นเรื่องมีข้อโต้แย้งสิทธิในการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นอีกคดีหนึ่งหาใช่มายื่นคำร้องในคดีที่ตั้งผู้จัดการมรดกไม่
 
มาตรา 1719  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

มาตรา 1750  การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

มาตรา 1364  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
 
________________________________
 
          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางมะลิ โภชนสมบูรณ์ ต่อมาผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอนำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3585ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างทายาทและหากไม่มีทายาทคนใดประมูลซื้อผู้ร้องจะนำที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท โดยอ้างเหตุว่าการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวมีเหตุขัดข้องหรือขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร เนื่องจากเจ้ามรดกต้องการให้ทายาททุกคนได้รับแบ่งปันที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย หากทายาทคนใดครอบครองที่ดินอยู่ก่อนแล้วแต่ครอบครองเกินส่วนที่จะได้รับ ก็ให้ทายาทนั้นชดเชยค่าที่ดินแก่ทายาทที่ได้ที่ดินน้อยกว่า ผู้ร้องทั้งสามประชุมทายาทหลายครั้งเพื่อแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ทายาท รวมถึงการกำหนดค่าชดเชยที่ดิน แต่ทายาทมีความเห็นแตกต่างกันไปและไม่ยอมตกลงกันในการแบ่งที่ดิน
          ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวทายาทเกือบทั้งหมดปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยเจ้ามรดกกำหนดแนวเขตให้ชัดเจนแล้ว ส่วนที่ปลูกตึกแถวก็มีการจับฉลากแบ่งสัดส่วนกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เป็นที่ว่างผู้คัดค้านทั้งหกให้ผู้ร้องทั้งสามเลือกแนวเขตเพื่อจะได้กำหนดรูปแผนผังในการขอรังวัด แต่ผู้ร้องทั้งสามไม่ยอมกำหนดแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนได้ เหตุที่ยังแบ่งปันไม่ได้เป็นเพราะการจัดการมรดกของผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกบกพร่องไม่แสดงบัญชีรายได้ที่ชัดเจน
          ในวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้ว ทายาทบางคนยินยอมทำความตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันที่ดินแปลงดังกล่าวในบางประการศาลชั้นต้นจึงบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นผู้ร้องทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกกับทายาทบางคนมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับการแบ่งปันที่ดินแปลงดังกล่าวอีก ซึ่งศาลชั้นต้นนัดพร้อมและไกล่เกลี่ยแล้วหลายนัด แต่ในที่สุดตกลงกันไม่ได้
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกสามารถแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ คงติดขัดอยู่ที่ผู้จัดการมรดกไม่ไปจัดการตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของทายาท กรณีเป็นเรื่องที่ทายาทต้องไปดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จัดการมรดกต่อไปจึงให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ของผู้ร้องทั้งสามและจำหน่ายคดีจากสารบบความ
          ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          ผู้ร้องทั้งสามฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้เป็นคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งศาลมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับการตั้งและถอนผู้จัดการมรดกเท่านั้นแต่ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540คงได้ความว่าผู้ร้องทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกกับทายาทบางคนมีความเห็นแตกต่างกันไม่สามารถตกลงแบ่งที่ดินมรดกได้ ผู้ร้องทั้งสามขอนำที่ดินมรดกออกขายโดยประมูลราคากันเองหรือนำออกขายทอดตลาดให้บุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า ไม่ว่าการที่จะนำที่ดินมรดกออกขายโดยประมูลราคากันเองก็ดีหรือการนำออกขายทอดตลาดให้บุคคลภายนอกก็ดี ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการมรดกทั้งสิ้นซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของผู้จัดการมรดกที่สามารถกระทำได้เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 อยู่แล้ว กรณีไม่ใช่อำนาจของศาลที่จะสั่งให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการตามขอ หากผู้ร้องทั้งสามไม่อาจจัดการเช่นนั้นได้เพราะเหตุทายาทบางคนขัดขวางก็เป็นเรื่องมีข้อโต้แย้งสิทธิในการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ร้องทั้งสามชอบที่จะไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเป็นอีกคดีหนึ่ง บังคับให้ผู้ที่ขัดขวางกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้การจัดการมรดกดำเนินไปได้ตามสิทธิและหน้าที่หาใช่มายื่นคำร้องในคดีนี้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 นั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องทั้งสามฟังไม่ขึ้น อนึ่งศาลชั้นต้นมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข"
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( สุเมธ ตังคจิวางกูร - ชวลิต ยอดเณร - ประเสริฐ เขียนนิลศิริ )
 
 

 
 



ผู้ตั้งกระทู้ * :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-30 04:27:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1521773)

การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-08-30 04:28:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล