
เจ้ามรดกมีภริยา 2 คน แบ่งมรดกอย่างไร อายุความอย่างไร | |
หนูมีเรื่องอยากจะเรียนปรึกษาค่ะว่า ตอนนี้คุณพ่อหนูเสียชีวิตไปแล้ว แต่ว่าท่านมีภรรยา 2 คน ซึ่งหนูกับน้องเป็นบุตรที่แม่ไม่ได้จดทะเบียนด้วย แต่มีใบรับรองบุตร ส่วนอีกภรรยาหนึ่งจดทะเบียนสมรสกัน และมีบุตรอีก 5 คน
มีบ้านหนึ่งหลังที่เป็นของพ่อหนู มีชื่อ หนู แม่ และน้อง อยู่ในทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีชื่อของภรรยาและลูกๆฝ่ายโน้นอยู่ แต่เมื่อพ่อตายไป แม่หนูก็เป็นเจ้าบ้าน แต่ชื่อโฉนดยังเป็นชื่อพ่อ หนูอยากจะเรียนถามว่า เราสามารถโอนชื่อโฉนดที่ดิน มาเป็นของหนูเลยได้ไหม โดยที่ไม่ต้องถามกับพี่ๆ ฝ่ายโน้น และก่อนที่คุณพ่อจะเสียท่านได้พิมพ์จดหมายฉบับหนึ่งไว้ที่จะยกบ้าน ให้หนูกับน้องโดยที่ให้แม่เป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้งยังมีลายนิ้วมือ และลายเซ็นต์ของคุณพ่อกำกับไว้ ไม่ทราบว่าเอกสารตัวนี้จะสามารถใช้ได้จริงๆ หรือป่าว และจะมีปัญหายุ่งยากใดๆ ไหมค่ะ และถ้าหากว่าเอกสารนี้ไม่สามารถใช้ได้ ต้องให้พี่ๆ ฝ่ายโน้นยินยอมกันทุกคนรึเปล่าค่ะ แล้วจดหมายฉบับนี้มีวันที่หมดอายุหรือเปล่าค่ะ แล้วที่จะให้แม่เป็นผู้จัดการมรดกหรือว่าการโอนที่ดินนี้ มีวันกำหนดมั้ยค่ะว่าต้องทำภายในกี่วันหลังจากที่ผู้ตายตาย เพราะว่าคุณพ่อหนูเสียมาตั้งแต่เดือน 5 แล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเลย เพราะยังไม่พร้อมเรื่องเงิน เกรงว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่ทราบว่าถ้าปล่อยนานจะมีปัญหาใดมั้ยค่ะ | |
ผู้ตั้งกระทู้ แพนด้า :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-04 23:41:32 |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (2986891) | |
1. เมื่อคุณพ่อคุณเสียชีวิตทรัพย์สินของคุณพ่อย่อมได้แก่ทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรม ทายาทโดยธรรม หมายความว่าถ้าคุณเป็นลูกชั้นบุตรทรัพย์มรดกก็จะตกทอดแก่บุตรสืบสายโลหิต (ทรัพย์นั้นต้องเป็นทรัพย์ที่แบ่งออกจากสินสมรสแล้วนะครับ) บุตรสืบสายโลหิตที่บิดารับรองว่าเป็นบุตรเช่นคุณก็มีสิทธิรับมรดกคนละส่วนเท่าๆ กัน ตามจำนวนบุตร เมื่อภริยาชอบด้วยกฎหมายได้แบ่งสินสมรสไปแล้ว ตัวภริยาเองก็มีสิทธิได้รับรับมรดกในส่วนที่จะแบ่งกับลูกๆอีกส่วนหนึ่งซึ่งถือเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรด้วย (สมมุติพ่อคุณมีเงินหลังแบ่งสินสมรสแล้ว เจ็ดล้านบาทมีลูกทั้งหมด 6 คน และมีภรรยาชอบด้วยกฎหมาย ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเงินเจ็ดล้านต้องแบ่งเป็นเจ็ดส่วนได้แก่ลูกคนละหนึ่งล้านและภริยาชอบด้วยกฎหมายอีกหนึ่งล้านเป็นเจ็ดล้านบาท) ถ้าพ่อกับแม่ของบิดาคุณ (ปู่กับย่าคุณนั่นแหละ) ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะเข้ามารับส่วนแบ่งนั้นด้วยนะครับ พูดง่ายๆว่าเงินเจ็ดล้านต้องหาร 9 ส่วนนั่นเอง 2. ตามที่คุณแจ้งว่ามีใบรับรองบุตรนั้นคืออะไรครับ โดยปกติการจดทะเบียนรับรองเด็กว่าเป็นบุตรต้องไปทำที่สำนักงานอำเภอหรือสำนักงานเขตนะครับ แต่การที่ให้ใช้นามสกุลและส่งเสียเลี้ยงให้การศึกษานั้นเป็นเพียงการรับรองโดยนิตินัยเท่านั้นและเกิดสิทธิรับมรดกของพ่อได้ด้วยแต่ต้องพิสูจน์ว่ามีการรับรองเช่นนั้นจริง เพราะทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายย่อมปฏิเสธว่าไม่ใช่ไม่รู้ไม่เห็นเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครมาหารเอาส่วนแบ่งไปนั่นเอง 3. แม่ของคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาคุณ การที่บิดาของคุณพิมพ์จดหมายว่ายกทรัพย์สินใดให้กับคุณและแม่ ดูเหมือนเป็นการทำพินัยกรรม แต่ถ้าจดหมายนั้นทำขึ้นโดยการพิมพ์และไม่มีพยานลงชื่อรับรองสองคนขณะทำจดหมายนั้นก็ไม่เป็นผลให้จดหมายนั้นเป็นพินัยกรรมได้ นอกจากว่าเป็นการเขียนด้วยลายมือของบิดาคุณทั้งฉบับจึงไม่ต้องการพยานมารับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมครับ ส่วนเรื่องลายนิ้วมือก็ต้องมีพยานรับรองด้วยเช่นกันครับ เมื่อไม่ใช่พินัยกรรม ทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาระหว่างสมรสไม่ว่าจะเป็นชื่อของบิดาคุณหรือเป็นชื่อของภริยาที่จดทะเบียนสมรสก็ถือว่าเป็นสินสมรสต้องนำไปแบ่งเป็นสองส่วนให้กับภริยาที่จดทะเบียนส่วนครึ่งหนึ่งที่เหลือจึงตกทอดแก่ทายาทตามหลักเกณท์ที่ตอบไว้ข้างต้นครับ 4. ตามที่บอกว่า --มีบ้านหนึ่งหลังที่เป็นของพ่อหนู มีชื่อ หนู แม่ และน้อง อยู่ในทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีชื่อของภรรยาและลูกๆฝ่ายโน้นอยู่ ข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ไม่ใช่เป็นการแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นๆ ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าบ้าน หรือไม่ว่าบุตรและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจะมีชื่อในทะเบียนหรือไม่ พวกเขาเหล่านั้นก็มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตามครับ สรุปว่าบ้านหลังที่มีชื่อคุณและมารดาของคุณมีชื่อในทะเบียนต้องตกเข้ากับกองมรดกของผู้ตายครับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามารดาคุณเป็นผู้ทำมาหาได้ร่วมกันมาซึ่งอาจควรมีสิทธิในส่วนบ้านหลังนั้นในฐานะหุ้นส่วนก็ต้องไปว่ากว่ากันอีกเรื่องหนึ่งครับ 5. คำถามว่า-หนูอยากจะเรียนถามว่าเราสามารถโอนชื่อโฉนดที่ดินมาเป็นของหนูเลยได้ไหม เมื่อบ้านหลังนั้นเป็นสินสมรสก็ไม่สามารถทำได้และทางเจ้าพนักงานที่ดินก็คงไม่สามารถทำให้ได้ และการจะทำเช่นนั้นได้ต้องร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก หากผู้จัดการมรดกไม่ทำตามหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนดก็มีความผิดตามกฎหมายด้วยครับเช่นการยักยอกทรัพย์มรดกเป็นต้น เพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายครับ 6. เมื่อทายาทได้ทำการแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนของตนแล้วใครจะยกให้ใครก็ต้องจดทะเบียนการโอนเสียค่าธรรมเนียมการโอนอีกครับ 7. เรื่องอายุของจดหมายนั้นคงต้องตัดประเด็นไปเนื่องจากไม่มีพยานรับรองลายนิ้วมือจึงไม่มีผลผูกพันเป็นพินัยกรรม ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ดังนั้นคุณควรดำเนินการในเรื่องนี้ให้เรียบร้อยภายในหนึ่งปีดังกล่าวนะครับ เพราะคุณไม่ใช่ลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ตามข้อมูลที่บอกเข้าใจว่าเป็นการรับรองทางพฤตินัยเท่านั้น)
| |
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-11-18 12:53:25 |
[1] |