
ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ ข้อตกลงว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 15 งวดไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 อ้างว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายถูกคนร้ายลักไป ข้อเท็จจริงฟังว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหายแล้ว เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ได้ชำระค่างวดมาแล้ว 15 งวด และผู้เช่าซื้อยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนด้วย แต่ผู้เช่าซื้อไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดชอบในความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชย์ในการได้ใช้รถยนต์ถึงวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย หลังจากนั้นจะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้ ค่าเป็นเงิน 45,000 บาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2551 ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไป คือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนักงานของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ ข้อตกลงที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งนั้น จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่อาจใช้บังคับได้ สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามสัญญาเช่าซื้อไปก่อนที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหาย เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนอกจากโจทก์จะได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดในความเสียหายหากต่อมาการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 217 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามที่สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ และย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อไม่ส่งคืนก็ต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ได้จนถึงวันที่รถยนต์สูญหายไป หลังจากนั้นโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 1,334,550 บาท กับชำระค่าเสียหาย 350,000 บาท และชำระค่าเสียหายภายหลังฟ้องวันละ 400 บาท จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 1,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 252,000 บาท และค่าขาดประโยชน์วันละ 400 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 180 วัน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 1,000,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 54,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสอง 10,715 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 80 - 7907 มหาสารคาม ไปจากโจทก์ในราคา 2,487,800 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 200,000 บาท ค่าเช่าซื้อที่เหลือชำระเป็นงวดรายเดือนงวดละ 63,550 บาท รวม 36 งวด งวดแรกชำระวันที่ 15 ตุลาคม 2539 งวดต่อๆ ไปชำระทุกวันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 15 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 15 มกราคม 2541 เป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2541 จำเลยทั้งสองทราบว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไป คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรพลฟ้องคดีโดยชอบหรือไม่ โจทก์มีนายสุรพล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันประกอบเอกสารว่า นางกรรัชต์ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์มอบอำนาจให้พยานฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งตามสำเนาหนังสือรับรองได้ระบุว่า นางกรรัชต์เป็นกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญผูกพันโจทก์ได้ และตามหนังสือมอบอำนาจก็ระบุว่า โจทก์โดยนางกรรัชต์มอบอำนาจให้พยานมีอำนาจฟ้องคดีต่อจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นางกรรัชต์มีอำนาจทำการแทนโจทก์และมอบอำนาจให้นายสุรพลฟ้องคดีนี้แทน โจทก์จึงมอบอำนาจให้นายสุรพลฟ้องคดีโดยชอบ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายชูศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่า พยานมีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 แต่สำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 ขัดกับสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ตรงวันที่โจทก์จดทะเบียนและจำนวนหรือชื่อกรรมการ แสดงว่าสำเนาหนังสือรับรองทั้งสองฉบับมิได้คัดจากต้นฉบับ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจึงไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่า ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 มีนายชูศักดิ์และนางกรรัชต์เป็นกรรมการและระบุว่ากรรมการคนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้นั้น นายทะเบียนออกให้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ส่วนสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ที่ระบุว่านางกรรัชต์มีอำนาจทำการแทนโจทก์นั้น นายทะเบียนออกให้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 ซึ่งนางกรรัชต์มีอำนาทำการแทนโจทก์เพียงลำพังคนเดียว มิใช่นายชูศักดิ์หรือนางกรรัชต์คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งนายชูศักดิ์ก็ได้เบิกความอธิบายว่านายชูศักดิ์มีอำนาจทำการแทนโจทก์ถึงปี 2542 เท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการของโจทก์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 ดังนั้น แม้จำนวนและชื่อกรรมการแตกต่างกันก็ไม่ถือว่าขัดกันหรือไม่ถูกต้อง ส่วนปีที่โจทก์จดทะเบียนตามสำเนาหนังสือรับรองทั้งสองฉบับแม้จะแตกต่างกัน แต่นายชูศักดิ์ได้เบิกความยืนยันว่า โจทก์จดทะเบียนเมื่อปี 2532 ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 ส่วนปี 2538 ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ไม่ถูกต้องอาจเกิดจากพิมพ์ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นตามที่นายชูศักดิ์เบิกความ ทั้งตามสำเนาหนังสือรับรองทั้งสองฉบับแม้ปีที่โจทก์จดทะเบียนจะแตกต่างกัน แต่นางกรรัชต์ก็มีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือรับรองทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อแตกต่างเกี่ยวกับปีที่โจทก์จดทะเบียนจึงไม่เป็นสาระสำคัญ ขณะฟ้องนางกรรัชต์จึงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมอบอำนาจให้นายสุรพลฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลจังหวัดสระบุรีหรือไม่ เห็นว่า เขตอำนาจศาลว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องนั้นย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันที่สำนักงานของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งมาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไปคือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนังานของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นโจทก์ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งนั้น จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่อาจใช้บังคับได้ ฎีกาข้อนี้ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท จำเลยทั้งสองฎีกาในทำนองเดียวกับที่ให้การไว้ มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สี่ว่า สัญญาค้ำประกันมิได้ปิดอากรแสตมป์ ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท และโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องนอกประเด็นเป็นฎีกาที่ไม่ชอบจึงไม่รับวินิจฉัยให้ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่ห้าว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่หกว่า สัญญาเช่าซื้อสมบูรณ์ผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายชูศักดิ์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อพยานเป็นกรรมการมีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.10 จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า นายชูศักดิ์มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญในฐานะผู้ให้เช่าซื้อแทนโจทก์ได้สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 มีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 15 มกราคม 2541 ถึงต้นเดือนเมษายน 2541 หรือวันที่ 1 เมษายน 2541 ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 จึงผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ไปก่อนที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหายแล้ว เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว นอกจากโจทก์จะได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหากต่อมาการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตามมาตรา 217 จำเลยทั้งสองจึงต้องตามที่สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 1,000,000 บาท นั้น สูงเกินไป เพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาเงินสดในขณะเช่าซื้อเพียง 1,800,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วประมาณ 1,200,000 บาท ราคาเงินสดจึงเหลือเพียง 600,000 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบราคาเงินสดไว้ คงฎีกากล่าวอ้างมาลอยๆ และได้ความจากคำเบิกความของนายสุรพลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาเงินสด 2,000,000 บาทเศษ ทั้งเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระไปแล้วก็เป็นเงินค่าเช่าซื้อซึ่งรวมดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของโจทก์อยู่ด้วย มิใช่ราคาเงินสดที่แท้จริง จะนำทั้งจำนวนมาหักเพื่อคำนวณหาราคาเงินสดหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 1,000,000 บาทนั้น เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดเดือนละ 18,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพรถและค่าเช่าซื้อตามสัญญาแล้ว ค่าขาดประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมาเดือนละ 18,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ส่วนระยะเวลาที่กำหนดให้ 3 เดือน นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที จำเลยทั้งสองย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อไม่ส่งคืนก็ต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 โดยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อแทน โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ได้จนถึงวันที่รถยนต์สูญหายไป หลังจากนั้นโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้ โจทก์ขาดประโยชน์เป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกามิใช่ 3 เดือน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเวลา 3 เดือน จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเกินกว่าที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามคำฟ้องและกฎหมาย จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เพียง 2 เดือนครึ่ง เป็นเงิน 45,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองข้ออื่นๆ นั้น ล้วนเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นและไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่วินิจฉัยให้” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ( มานัส เหลืองประเสริฐ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - วีระชาติ เอี่ยมประไพ ) อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง คดีของโจทก์ขาดอายุความการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินมรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี ผู้สืบสันดาน คือใคร? ต่างกับทายาท อย่างไร? ผู้สืบสันดานก็คือ บุตรของผู้ตาย หรือบุตรของบุตรของผู้ตาย (ลูกของลูก) และถัดลงไปเรื่อย ๆ จนไม่ขาดสาย ดังนั้นคำว่าผู้สืบสันดานต่างชั้นกันคือ ชั้นบุตร กับชั้นบุตรของบุตร ซึ่งต่างก็เป็นผู้สืบสันดานด้วยกันทั้งนั้น แต่กฎหมายกำหนดลำดับชั้นไว้ให้ชั้นผู้สืบสันดานชั้นสนิทที่สุดกับผู้ตายมีสิทธิรับมรดกก่อน คำว่า "ทายาท" กับทายาทโดยธรรม มีความหมายเหมือนกัน แต่ทายาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ทายาทโดยธรรม และทายาทตามพินัยกรรม
|