-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร. 085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail: leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1
จดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันเป็นโมฆะ
จดเบียนสมรสเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอดเป็นการสมรสฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ และการสมรสที่ตกเป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เนื่องจากเป็นการสมรสที่ได้กระทำโดยไม่สุจริต จึงต้องคืนบำเหน็จตกทอดฐานลาภมิควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548
จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406
จำเลยมีหน้าที่จะต้องคืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เรียกคืนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อมีการเรียกคืนแล้ว แต่จำเลยไม่คืนให้ จึงจะถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภริยาของเรือเอกเชิดชาย ศรีงามผ่อง ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของโจทก์ เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2537 เรือเอกเชิดชายถึงแก่ความตาย จำเลยขอรับเงินบำเหน็จตกทอด โจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้การสมรสระหว่างเรือเอกเชิดชายกับจำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จตกทอดดังกล่าวแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับหนังสือ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 348,792.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 207,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 207,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำเนามายังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินบำเหน็จตกทอดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิดชาย ศรีงามผ่อง ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของโจทก์ เมื่อเรือเอกเชิดชายถึงแก่ความตายจำเลยได้รับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ในวันที่ 16 มีนาคม 2538 ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิดชายโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอดการสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับเรือเอกเชิดชายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 การสมรสดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอกเชิดชายมิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดของเรือเอกเชิดชายและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406 แต่อย่างไรก็ดี แม้จำเลยมีหน้าที่จะต้องคินเงินดังกล่าวแต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เรียกคืนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต่อเมื่อมีการเรียกเงินดังกล่าวคืนแล้ว แต่จำเลยไม่คืนให้จึงจะถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนฟ้องจำเลยยังไม่ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้คืนเงินดังกล่าวโดยชอบ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยเพราะเหตุผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( สบโชค สุขารมณ์ - วิรัช ลิ้มวิชัย - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ )
หมายเหตุ
หนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินลูกหนี้จะตกเป็นเป็นผิดนัดต่อเมื่อภายหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง
สำหรับหนี้อันเกิดจากมูลลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 เป็นหนี้ที่ต้องชำระหนี้โดยการคืนทรัพย์ให้แก่เขา ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องคืนเมื่อใด บทบัญญัติมาตรา 415 ก็มิใช่เรื่องกำหนดเวลาในการคืนทรัพย์ แต่มาตรา 419 กำหนดอายุความไว้ว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น สิทธิเรียกคืนย่อมมีขึ้นเมื่อเกิดเหตุที่ต้องคืนฐานลาภมิควรได้ จึงเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระเช่นเดียวกับละเมิด หนี้อันเกิดจากมูลละเมิดมาตรา 206 จึงบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด แต่ลาภมิควรได้ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว และลาภมิควรได้ไม่ใช่ละเมิดจะบังคับตามมาตรา 206 ก็ไม่ได้จึงต้องบังคับตามมาตรา 203 และมาตรา 204 โดยน่าจะถือเป็นกรณีที่เป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน หนี้จึงถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ด้วยการคืนทรัพย์ ถ้าเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อีก ก็ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่นั้น การเรียกคืนดังในคดีนี้ก็เท่ากับเป็นคำเตือนนั่นเอง แต่มิใช่ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่เวลาที่ถูกเรียกคืน ควรจะผิดนัดนับแต่พ้นกำหนดเวลาที่ให้ไว้ในตอนเรียกคืนแล้วลูกหนี้ไม่คืนให้
ไพโรจน์ วายุภาพ
หน้าแรกหน้าที่แล้ว หน้าถัดไปหน้าสุดท้าย
ป.พ.พ.
มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
มาตรา 204 ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้
มาตรา 415 บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่
ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น
มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1496 คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้
มาตรา 1498 การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว
มาตรา 1499 การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตรา 1458 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ
การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตรา 1458 หรือฝ่าฝืนมาตรา 1452 ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ ให้นำมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตรา 1458 หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452