
โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดก
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดก -โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามสิทธิ ขอให้กำจัดมิให้จำเลยรับมรดกในส่วนของตนที่จะได้รับ และให้กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป หากจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ขอให้ยึดทรัพย์มรดกขายทอดตลาด -ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแบ่งปันให้โจทก์ให้หนึ่งในห้าส่วนของทรัพย์มรดก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
-ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง ภายในอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
-ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัว โจทก์ไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกนั้นก็ตกแก่ทายาท โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามทายาทไม่ให้ฟ้องร้องติดตามเอาทรัพย์มรดกจากผู้ปิดบังครอบครองซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อรวบรวมทรัพย์สินเข้าเป็นกองมรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมเพียงลำพัง และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยให้แบ่งส่วนที่เป็นสินสมรสออกครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของผู้ตายเป็นมรดกนำไปหักออกจากค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เหลือเป็นทรัพย์มรดกแบ่งให้โจทก์หนึ่งในห้าส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามสิทธิหนึ่งในสี่ส่วน ตามบัญชีทรัพย์และสรุปรายการแบ่งปันทรัพย์มรดกท้ายฟ้องหมายเลข 4 และ 5 หากจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ได้ ขอให้จำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมชำระเงิน 208,048,410 บาท จากกองมรดกพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ขอให้กำจัดมิให้จำเลยรับมรดกในส่วนของตนที่จะได้รับ และให้กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป หากจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ขอให้ยึดทรัพย์มรดกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกรียงไกร ผู้ตาย ตามบัญชีทรัพย์มรดก ทรัพย์รายการที่ 1 รวม 13 รายการ ทรัพย์รายการที่ 2 รวม 8 รายการ ทรัพย์รายการที่ 2 แบ่งออกเป็นสองส่วน ทรัพย์หนึ่งในสองส่วนเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แล้วนำทรัพย์มรดกหักออกจากค่ารักษาพยาบาล 5,817,072 บาท ส่วนที่เหลือจึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายแบ่งปันให้โจทก์ให้หนึ่งในห้าส่วนของทรัพย์มรดกค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นายเกรียงไกร ผู้ตาย กับนางบุญสม เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางบุญสม โจทก์ และจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 89/2554 ของศาลชั้นต้น เดิมผู้ตายประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ โรงภาพยนตร์และมีที่ดินให้เช่า แต่เลิกกิจการดังกล่าว ต่อมาผู้ตายกับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนและผู้ถือหุ้นในบริษัท 3 บริษัท คือ บริษัทเค.เอส. เรียลเอสเตทส์ จำกัด บริษัทราม 65 เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัทรอยัลพลาซ่า จำกัด วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยและนางบุญสมให้นัดประชุมปรึกษาเรื่องการจัดการมรดกของผู้ตาย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ จำเลย นางบุญสม นางวิไล และนายวิชิต พร้อมญาติพี่น้องของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุม โดยโจทก์ จำเลย และนางบุญสมยอมรับว่าทรัพย์สิน 13 รายการ ตามฟ้องข้อ 5.1 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับนางบุญสมที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยและนางบุญสม และทรัพย์สินที่นางบุญสมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ 8 รายการ ตามฟ้องข้อ 5.2 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับนางบุญสม และกองมรดกมีหนี้สินเป็นค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยทดรองจ่ายแทนไป 5,817,072 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และนางบุญสมเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดก 1,627,480,251 บาท มากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกนั้นก็ตกแก่ทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกตามส่วนที่ตนจะพึงได้ ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก รวมถึงการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 4 ว่าด้วยวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกก็มิได้ห้ามทายาทไม่ให้ฟ้องร้องติดตามเอาทรัพย์มรดกจากผู้ปิดบังครอบครองซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อรวบรวมทรัพย์สินเข้าเป็นกองมรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมเพียงลำพัง และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย 13 รายการ ตามบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย และ 8 รายการ ตามรายการทรัพย์สินของนางบุญสมท้ายรายงานการประชุมการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย และบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย รายการที่ 1 และ 2 โดยทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แบ่งส่วนที่เป็นสินสมรสของนางบุญสมออกครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของผู้ตายเป็นมรดกนำไปหักออกจากค่ารักษาพยาบาล 5,817,072 บาท ส่วนที่เหลือเป็นทรัพย์มรดกแบ่งให้โจทก์หนึ่งในห้าส่วน วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726
ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องเนื่องจากผู้ร้องได้ไปติดต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา (ขอวีซ่า) ให้กับบุตรผู้เยาว์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ร้องจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล หรือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวเสียก่อน ผู้ร้องจึงจะสามารถพาบุตรผู้เยาว์ เดินทางออกนอกประเทศไทย และสามารถดำเนินการผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องมาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลนี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวของเด็กหญิง เอ บุตรผู้เยาว์ เสียก่อนจึงจะดำเนินการให้ได้
ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง
|