ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




สำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย

ทนายความโทร0859604258

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ปรึกษากฎหมาย ทนายความ (นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ) โทร.085-9604258

-ติดต่อทางอีเมล  : leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3)  @peesirilaw  หรือ (4) peesirilaw   (5)   leenont

สำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย

หน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดไม่ต้องดำเนินการสอบสวนวินัยผู้ถูกกล่าวหาอีกแต่หาได้หมายความรวมไปถึงขั้นตอนการออกคำสั่งลงโทษด้วยไม่ 

หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยแล้วพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมถูกลงโทษทางวินัยโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระทำความผิดทางวินัยในเรื่องนั้นได้ แต่ขณะเกิดเหตุกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7486/2562

บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะเกิดเหตุ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและพิจารณาความผิดทางวินัย เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยในข้อที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรง การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลย ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยเพื่อดำเนินการทางวินัยเสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลย จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย เรื่องลงโทษให้ออกจากงาน

จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายกมล ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด 4 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 3 แปลง รวมเนื้อที่ 1,525 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา เพื่อขยายโรงงานผลิตยาและเวชภัณฑ์ ต่อมาจำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงพบว่าเนื้อที่ดินขาดหายไป 32 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา แต่โจทก์ นายสมชาย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และนายธนวัฒน์ รองผู้อำนวยการ กลับส่งโฉนดให้ฝ่ายบัญชีและการเงินเก็บรักษาไว้เท่านั้น ตามบันทึกข้อความส่วนราชการแผนกอรรถคดี กองกฎหมาย ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยมีผลในวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์กระทำความผิดตามชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษให้โจทก์ออกจากงานมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติยกอุทธรณ์

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งเคยเป็นพนักงานของจำเลยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย้อนหลังจากกระทำความผิดขณะเป็นพนักงานของจำเลยได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเกิดเหตุจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยอาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี และมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาความผิดทางวินัยในเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยถือรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยด้วย จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยแล้วพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมถูกลงโทษทางวินัยโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระทำความผิดทางวินัยในเรื่องนั้นได้ แต่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ที่บัญญัติว่า "ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี" คงหมายความเพียงว่า หน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดไม่ต้องดำเนินการสอบสวนวินัยผู้ถูกกล่าวหาอีก ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐนั้นแล้วเท่านั้น หาได้หมายความรวมไปถึงขั้นตอนการออกคำสั่งลงโทษด้วยไม่ แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ซึ่งบังคับใช้ขณะที่โจทก์ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้กำหนดให้จำเลยมีอำนาจลงโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มีข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 ข้อ 127 กำหนดว่า "พนักงานผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือความผิดลหุโทษ ถ้าผู้นั้นออกจากงานไปแล้ว เว้นแต่ออกจากงานเพราะตาย ให้ดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังไม่ออกจากงาน เว้นแต่กรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ก็ให้งดโทษเสียได้" แม้ข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากที่โจทก์ลาออกโดยมีผลให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2547 แล้วก็ตาม แต่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเป็นส่วนของกระบวนการในการลงโทษผู้กระทำผิดทางวินัยย่อมมีผลใช้บังคับในขณะที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปให้โจทก์ออกจากงานนับแต่วันที่โจทก์ลาออกเสมือนโจทก์ยังไม่ออกจากงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีแต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น ความผิดอื่นนอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า โจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป ดังนั้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ในความผิดฐานนี้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ได้ จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามที่ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 กำหนดไว้ในหมวด 16 การดำเนินการทางวินัย เสียก่อน คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษให้ออกจากงานไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา

 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

แหล่งที่มา

 กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 




กฎหมายทั่วไป

ระเบียบ ก.การคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน
ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอด-ยึดรถจักรยานย์
โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2550
สถานที่ตั้งสำนักงานทนายความ