ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




อายุความเรื่องลาภมิควรได้มีกำหนด 1 ปี

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

อายุความเรื่องลาภมิควรได้มีกำหนด 1 ปีนับแต่รู้ว่ามีสิทธิแต่ไม่เกิน 10 ปี

การกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ได้รับว่าสิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยได้มีขึ้นตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4801/2538

 กระทรวงการคลัง      โจทก์
 
          อายุความฟ้องร้องในเรื่องลาภมิควรได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ว่า ในเรื่องลาภมิควรได้นั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนเกิน 1 ปี แล้วถึงแม้จะยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น หรือถ้าผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนยังไม่เกิน 1 ปี แต่ก็พ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ก็ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนเช่นกันโจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3 ของจำเลยได้มีการออกทับที่ดินมีโฉนดของผู้อื่นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรก การกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้รับว่าสิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยของโจทก์ได้มีขึ้นตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายคือวันที่ 15 มกราคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์2535 จึงพ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535 จำเลยได้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้โจทก์ในราคา 6,560 บาทเพื่อกรมชลประทานใช้ประโยชน์ในการทำคันกั้นน้ำเค็ม กรมชลประทานจะทำการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ราษฎรที่ถูกเวนคืนในเขตชลประทานคันกั้นน้ำเค็ม รายของนายไกรฤกษ์ ตียวัฒนฤกษ์ ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานแล้วปรากฎว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกทับที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยและเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดแล้วพบว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2461 (ร.ศ.137) ส่วน น.ส.3 ของจำเลยออกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรก จำเลยขายที่ดินให้โจทก์โดยไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 6,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืน และนับแต่จ่ายเงินค่าเวนคืนก็พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

          ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 จำเลยได้ขายที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 7 ตำบลปึกเตียน (หนองจอก) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่1 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ให้แก่โจทก์ในราคา 6,560 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยออกทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 ของ นายไกรฤกษ์ตียวัฒนฤกษ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้กรมชลประทานทราบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่อายุความฟ้องร้องในเรื่องลาภมิควรได้นี้ได้มีบัญญัติไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ว่า "ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น" ตามบทบัญญัติมาตรา 419 ดังกล่าวนี้หมายความว่า ถ้าผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนเกิน 1 ปีแล้วถึงแม้จะยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นหรือถ้าผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนยังไม่เกิน 1 ปี แต่ก็พ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ก็ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนเช่นกัน โจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3 ของจำเลยได้มีการออกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรก การกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ก็ได้รับว่าสิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยของโจทก์ได้มีขึ้นตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คือวันที่ 15 มกราคม 2525 ที่โจทก์ฎีกาว่าถ้าโจทก์จะมีสิทธิในการเรียกเงินคืนก็ควรนับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2533อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินรายงานเรื่อง น.ส.3 ของจำเลยออกทับที่ดินมีโฉนดของผู้อื่นให้กรมชลประทานทราบ นั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้รับฟังได้ จากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่า สิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยของโจทก์ได้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 จึงพ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

          พิพากษายืน

( บรรเทิง มุลพรม - สมาน เวทวินิจ - สมิทธิ์ วราอุบล )
                

หมายเหตุ 

          (1)คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 จำเลยได้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3)เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวาให้โจทก์ในราคา 6,560 บาท เพื่อกรมชลประทานใช้ประโยชน์ในการทำคันกั้นน้ำเค็มต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 กรมชลประทานจะทำการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ราษฎรที่ถูกเวนคืนในเขตชลประทานคันกั้นน้ำเค็มรายของนาย ไกรฤกษ์ ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานแล้วปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ดังกล่าวออกทับที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยและเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดแล้วพบว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2461(ร.ศ.137)ส่วนน.ส.3ของจำเลยออกเมื่อวันที่15มกราคม2535(ที่ถูกเป็น15มกราคม2525)ซึ่งเป็นวันเดียวกับการทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรกขายที่ดินให้โจทก์โดยไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน6,560บาทพร้อมดอกเบี้ย

          พึงสังเกตตอนนี้ว่าที่โจทก์ว่า"จำเลยขายที่ดินให้โจทก์โดยไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย"นั้นถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา406อันเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ทั้งๆที่ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องนั้นก็เห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้โจทก์เอาถ้อยคำดังกล่าวมาใช้ไม่ตรงกับเรื่องจะพูดได้อย่างไรว่าเมื่อจำเลยขายที่ดินให้โจทก์แล้วก็กลับไปพูดโดยปราศจากหลักเกณฑ์ว่าไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายเพราะเป็นการอ้างลักษณะสัญญาซื้อขายตามกฎหมายอยู่อย่างชัดๆแต่ศาลฎีกาก็ยังไปถือเอาว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ดังที่จะกล่าวต่อไปในข้อ(6)

          จำเลยให้การหลายอย่างหลายประการและตอนท้ายก็ให้การด้วยว่าโจทก์ทราบว่าน.ส.3ของจำเลยออกทับที่ดินโฉนดเลขที่2045ตั้งแต่วันที่10กรกฎาคม2533โจทก์ฟ้องคดีวันที่20กุมภาพันธ์2535พ้นกำหนด1ปีนับแต่เวลาที่โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนและนับแต่จ่ายเงินค่าเวนคืนก็พ้นกำหนด10ปีคดีโจทก์ขาดอายุความ

          ที่ว่า"นับแต่เวลาที่โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืน"นั้นก็ตรงกับถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา419เกี่ยวกับอายุความฟ้องเรียกคืนอันเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้เช่นเดียวกับตามฟ้องของโจทก์เข้ามาอีก

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยพิพากษายกฟ้องศาลชั้นต้นจะเห็นว่าอย่างไรไม่ทราบเพราะศาลฎีกาไม่ได้ย่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไว้แต่เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความดังข้อต่อสู้ของจำเลยจึงได้พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนก็คงเป็นเหตุผลอย่างเดียวกันแน่นอนโจทก์จึงได้ฎีกาขึ้นมา

          ศาลฎีกาถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าเมื่อวันที่15มกราคม2525 จำเลยได้ขายที่ดินตามน.ส.3 ให้แก่โจทก์ในราคา6,560 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันทำสัญญาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยออกทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 ของนาย ไกรฤกษ์ เจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้กรมชลประทานทราบเมื่อวันที่10กรกฎาคม 2533 โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยเมื่อวันที่20กุมภาพันธ์2535 ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าอายุความฟ้องร้องในเรื่องลาภมิควรได้นี้ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา419 โจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3 ของจำเลยได้มีการออกเมื่อวันที่15มกราคม2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันทำสัญญาขายให้แก่โจทก์อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรก การกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้รับว่าสิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยของโจทก์ได้มีขึ้นตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายคือวันที่ 15มกราคม2525 ที่โจทก์ฎีกาว่าถ้าโจทก์จะมีสิทธิในการเรียกเงินคืนก็ควรนับแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2533 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินรายงานเรื่อง น.ส.3 ของจำเลยออกทับที่ดินโฉนดของผู้อื่นให้กรมชลประทานทราบนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะให้รับฟังได้ จากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่า สิทธิที่จะเรียกคืนเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลยของโจทก์ได้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 จึงพ้น10ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายืน

          สรุปก็คือ ในคดีนี้คู่ความคือโจทก์จำเลยก็ดี ศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็ดี ต่างก็เห็นกันว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรับได้ด้วยข้อกฎหมายลักษณะลาภมิควรได้ด้วยกันทั้งนั้นเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการสอดคล้องต้องกันตั้งแต่ต้นจนปลายสุดเริ่มจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า"จำเลยขายที่ดินให้โจทก์โดยไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย"ซ้ำยังบอกเสียอีกด้วยว่า"ทำให้โจทก์เสียหาย"ทั้งๆที่มูลหนี้ลาภมิควรได้ไม่ใช่เรื่องการทำให้เสียหายเพราะมิใช่มูลหนี้ละเมิดแต่เป็นมูลหนี้ที่บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จำต้องคืนทรัพย์นั้นแก่บุคคลที่เสียเปรียบต่างหากหากจะถือว่าไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายหรือเสียหายก็เป็นการพูดกันตามความคิดเห็นสามัญสำนึกแบบชาวบ้านคนธรรมดาทั่วไปไม่ใช่อย่างนักกฎหมาย

          (2)เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจเราลองพิเคราะห์ดูว่าตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในคดีนี้จะควรปรับได้ด้วยลักษณะกฎหมายอันเป็นมูลแห่งหนี้ลักษณะใดจะเป็นความรับผิดในมูลหนี้ละเมิดหรือผิดสัญญาหรือลาภมิควรได้หรือมูลหนี้อื่นใดกันแน่จะถือตามฎีกาที่ถือว่าเป็นลาภมิควรได้เป็นการแน่นอนหาได้ไม่เพราะรูปเรื่องรูปกรณีอาจไม่เป็นดังนี้ก็ได้

          ถ้า ก. เอาหนังสือของ ข. มาขายให้ ค. โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็เป็นการกระทำละเมิดต่อ ข. ในขณะเดียวกันถ้า ก.มาหลอก ค. ว่าเป็นหนังสือของตนอันเป็นผลทำให้ ก. ได้เงินค่าหนังสือไปจาก ค. ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อ ค. ด้วยถ้า ก. ไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อ ข. หรือ ค.

          (3)คดีตามฎีกาฉบับนี้ได้ความว่าเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าที่ดินตามน.ส.3 ของจำเลยออกทับที่ดินโฉนดเลขที่2045 ของนาย ไกรฤกษ์จึงเท่ากับจำเลยเอาที่ดินของนาย ไกรฤกษ์มาทำสัญญาขายให้โจทก์นั่นเองเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ไกรฤกษ์ ส่วนจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้ซื้อคดีนี้(กระทรวงการคลัง)ด้วยหรือไม่ก็ต้องพิเคราะห์ดูว่าจำเลยได้กระทำต่อสิทธิของโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา420)คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าน.ส.3 ของจำเลยได้มีการออกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันทำสัญญาขายให้โจทก์ซึ่งศาลฎีกากลับเห็นเพียงว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่เริ่มแรกตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องการกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่มีมูลอ้างได้ตามกฎหมายซึ่งความจริงควรถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ จนได้ราคาที่ดินอันเป็นทรัพย์สินไปจากโจทก์ทางอาญาย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341เลยทีเดียว เพราะจำเลยได้ปกปิดความที่ควรบอกว่าความจริงเป็นที่ดินมีโฉนดของบุคคลอื่นแต่จำเลยไปขอออกน.ส.3 ทับที่ดินพิพาทอีกทีหนึ่งและย่อมเป็นละเมิดทางแพ่งตามมาตรา420 เพราะจำเลยน่าจะรู้ว่าที่ดินที่ตนขอออกน.ส.3 นั้นเป็นที่ดินของบุคคลอื่นไม่เป็นเพียงการทำกลฉ้อฉลให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 เท่านั้นจึงไม่เป็นสัญญาทางแพ่งผูกพันกันเลยทีเดียวเมื่อเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดก็ต้องปรับด้วยบทบัญญัติมูลละเมิดอายุความก็ต้องถือตามมาตรา 448 วรรค 2

          (4)อย่างไรก็ดีถ้าหากว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่พอฟังว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นองค์เกณฑ์ตามมาตรา 420 เพราะแม้จำเลยจะได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์วันเดียวกับที่จำเลยขอออกน.ส.3 แต่จำเลยอาจไม่รู้ก็ได้ว่าที่ดินตามที่จำเลยขอออกน.ส.3 นั้นเป็นที่ดินที่มีโฉนดแล้วก็ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงไม่แจ้งชัดเพราะศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย

          แต่ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว(ที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 ของนาย ไกรฤกษ์)จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดินต่อโจทก์ได้หรือไม่ การที่ น.ส.3 ของจำเลยทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 215) ถ้าผิดสัญญาและมีความเสียหายก็ย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือเลิกสัญญาเรียกค่าสินไหมทดแทนกันได้ผิดสัญญาอาจไม่เสียหายก็ได้)แต่จะถือว่ากรณีที่จำเลยเอาที่ดินของนาย ไกรฤกษ์มาออกน.ส.3 แล้วขายให้โจทก์นั้นจะเป็นการที่ผู้ซื้อคือโจทก์ถูกรอนสิทธิหรือไม่จะได้พิจารณากันในภายหลัง

          (5)ข้อที่พึงพิจารณาต่อไปก็คือเป็นกรณีลาภมิควรได้ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ใช่หรือไม่(ตามฎีกาศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิเรียกร้องคือฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว)ถ้าเป็นลาภมิควรได้ก็ต้องปรับบังคับคดีตามลักษณะลาภมิควรได้ ถ้าไม่ใช่ก็จะนำบทบัญญัติลักษณะลาภมิควรได้มาใช้บังคับหาได้ไม่เกี่ยวกับกำหนดอายุความตามมาตรา 419 ก็จะนำมาใช้บังคับไม่ได้เช่นกัน

          ขอให้ดูอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้ก่อน

          ถ้า ก.ข. ตกลงกันว่าถ้า ข. เอารถยนต์ของ ค. มาขายให้ ก. ได้จะให้ราคาสองแสนบาท ข. จะได้รถยนต์ของ ค. มาโดยวิธีการใดที่ชอบด้วยกฎหมายก็แล้วแต่เรื่องดังนี้สัญญาย่อมใช้บังคับกันได้แน่เพราะไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 แม้ทรัพย์ที่จะซื้อขายกันนั้นขณะตกลงกันเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นอยู่ก็ตามทั้งกรณีก็ไม่เกี่ยวกับสิทธิหรืออำนาจของเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 1336 แต่เป็นข้อตกลงในสัญญาอันเป็นนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 คนเกี่ยวกับบุคคลภายนอกสัญญาเป็นนิติกรรมสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า ข. ผู้ขายจะต้องได้รถยนต์ของ ค. โดยชอบก่อนจึงไม่เป็นโมฆะแต่ถ้า ก.ข. ตกลงกันว่าถ้า ข. ลักรถยนต์ของ ค.มาขายให้ ก. ได้จะให้ราคาสองแสนบาทดังนี้สัญญาย่อมเป็นโมฆะแน่เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย

          ตามอุทาหรณ์ที่ว่ามานี้เป็นนิติกรรมและการใดๆที่จะตกเป็นโมฆะได้นั้นใช้เฉพาะนิติกรรมเท่านั้นซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้ถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วยไม่ใช่เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้เท่านั้น(คำพิพากษาศาลฎีกาที่1124/2512)เพราะเป็นนิติกรรมสองฝ่ายเมื่อตกเป็นโมฆะแล้วผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคืนเงินอันเป็นราคาโดยมูลหนี้ลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406

          ข้อเท็จจริงตามฎีกาฉบับนี้สมมติว่าโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าก่อนขายให้จำเลยขอออกน.ส.3 ทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 ของนาย ไกรฤกษ์เสียก่อนก็ดีหรือจำเลยบอกให้โจทก์ทราบว่า น.ส.3 นี้ได้ออกทับที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวก็ดีนิติกรรมซื้อขายย่อมเป็นโมฆะ

          (6)แต่ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นการแสดงให้เห็นเลยว่าขณะทำสัญญาซื้อกันโจทก์(กระทรวงการคลัง)ได้ร่วมรู้ว่าที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยได้ออกทับที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 ของนาย ไกรฤกษ์ กลับมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเพราะตามฟ้องของโจทก์ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกเมื่อ 30สิงหาคม 2461(ร.ศ.137)ส่วน น.ส.3 ของจำเลยออกเมื่อ 15 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์เจ้าพนักงานที่ดินเพิ่งจะแจ้งให้กรมชลประทานทราบเมื่อ 10 กรกฎาคม 2533 จึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์(กระทรวงการคลัง)เพิ่งรู้ภายหลังเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งให้กรมชลประทานทราบแล้วกระทรวงการคลังโจทก์ไม่ได้ร่วมรู้ตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายกันตั้งแต่แรกเมื่อ 15 มกราคม 2525 นั้นเมื่อเป็นเช่นนี้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อไม่เป็นโมฆะจึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้เงินราคาที่ดินไปเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นตามมาตรา 406 วรรค 2 จึงไม่อาจบังคับกันได้ตามบทบัญญัติลาภมิควรได้ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะมาถือตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า"การกระทำของจำเลยเป็นการขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่มีมูลจะอ้างได้ตามกฎหมาย"ซึ่งเป็นเรื่องลาภมิควรได้เพราะมิใช่กรณีลาภมิควรได้เลย

          (7)เมื่อกรณีตามฎีกาฉบับนี้จะปรับด้วยลักษณะละเมิดไม่ได้ลาภมิควรได้ก็ไม่ได้ฉะนั้นในการที่โจทก์จะเรียกเงินค่าซื้อที่ดินคืนจากจำเลยจะปรับด้วยบทบัญญัติใดเล่าดังกล่าวมาในข้อ(4) ถึงกรณีที่ผู้ซื้อถูกรอนสิทธิอันเป็นกรณีที่ผู้ขายไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้เป็นผิดสัญญารอนสิทธิมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 475 ความว่า"หากมีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปรกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดีเพราะความผิดของผู้ขายก็ดีท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น"

          สมมติต่อไปว่าถ้านาย ไกรฤกษ์เจ้าของที่ดินมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์โดยเรียกร้องที่ดินคืนจากโจทก์(ถ้านาย ไกรฤกษ์ไม่รบกวนขัดสิทธิเรียกที่ดินคืนจากโจทก์จำเลยก็ยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์)จำเลยผู้ขายก็ต้องรับผิดในผลของการรอนสิทธิ

          กรณีพิพาทต้องถือว่านาย ไกรฤกษ์มีสิทธิเหนือที่พิพาทในขณะที่ทำการซื้อขายกันเป็นการแน่นอนเพราะเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2045 นอกจากนี้ยังเป็นความผิดของจำเลยที่ไปขอออกน.ส.3 ทับที่ดินโฉนดดังกล่าวอีกด้วยแต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่านาย ไกรฤกษ์มาก่อการรบกวนสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อประการใดบ้างหรือไม่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏในสำนวน

          (8)เกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิไม่มีตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ว่ามีอายุความเท่าใดก็คงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ10ปี(มาตรา193/30)ซึ่งเมื่อนำมาวินิจฉัยในคดีนี้ผลก็คือคดีของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินคืนเหมือนกัน

          (9)นอกจากนี้มีปัญหาทางกฎหมายวิธีพิจารณาความตามฟ้องของโจทก์คดีนี้โจทก์ตั้งมูลฟ้องคดีเรียกเงินค่าซื้อที่ดินที่จ่ายให้จำเลยไปคืนโดยอาศัยมูลหนี้ลาภมิควรได้ศาลจะพิพากษาให้คืนเงินโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายและปรับด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการรอนสิทธิย่อมเป็นการพิพากษานอกฟ้องซึ่งก็ควรที่จะพิพากษายกฟ้องของโจทก์เช่นเดียวกัน

           ไพจิตรปุญญพันธุ์
 
 
มาตรา 193/12   อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 406     บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
---บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นหรือเป็นเหตุที่ได้ สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

มาตรา 419    ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น

 




ลาภมิควรได้

ชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ
ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามเรียกคืนไม่ได้
ต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้
คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ (ลาภมิควรได้)