-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร. 085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail: leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1
จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
การฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์อาจอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตวตามความเป็นจริง หรือตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายก็ได้ ในกรณที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย โจทก์ก็มีหน้าที่เพียงนำสืบให้ต้องด้วยข้อสันนิษฐาน ถ้าโจทก์สืบไม่ได้ก็ถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ศาลก็ต้องยกฟ้อง แต่ถ้าโจทก์ฟ้องโดยอ้างว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายและตามความเป็นจริงด้วย แม้โจทก์สืบไม่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายก็ต้องดูว่าโจทก์สืบได้หรือไม่ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริงหรือไม่ด้วย หากสืบได้และประกอบหลักเกณฑ์อื่นตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็กขาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4286/2543
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวมสามครั้ง แต่ในการทวงถามสองครั้งแรก ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น จำเลยชอบที่จะ ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามหนังสือทวงถามทั้งสองครั้งได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียวยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ที่ให้นางอรุณช่วยทอง ชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีถ้านางอรุณไม่ชำระให้จำเลยชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ส่งคำบังคับให้นางอรุณและจำเลยทราบแล้ว แต่นางอรุณได้ถึงแก่กรรมโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ แต่ทายาทนางอรุณไม่ชำระ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันมากกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์เพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้สืบหาทรัพย์หรือบังคับคดีเอาจากกองมรดกนางอรุณก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย จำเลยมีอาชีพการงานดีและมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลย ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าทนายความตามจำนวนที่เห็นสมควร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 2ตุลาคม 2538 เอกสารหมาย จ.9 ครั้งที่สองตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2539 เอกสารหมาย จ.11 และครั้งที่สามลงวันที่ 22 ตุลาคม2539 เอกสารหมาย จ.7 หนังสือทวงถามครั้งแรกระบุว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 ให้นางอรุณชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทนายความของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังนางอรุณแล้วแต่นางอรุณไม่ยอมชำระและได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนำเงินตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่านางอรุณได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้โจทก์สามารถเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นอกจากนี้สำเนารายงานการเดินหมายเอกสารหมาย จ.16 ที่พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้นางอรุณก็ปรากฏว่านางอรุณได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายให้นางอรุณทราบคำบังคับแล้ว จึงถือไม่ได้ว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์ยังเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามครั้งแรก และทวงถามซ้ำตามหนังสือทวงถามครั้งที่สอง จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้ส่วนหนังสือทวงถามครั้งที่สามซึ่งเป็นการทวงถามหลังจากที่โจทก์ทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ และทายาทของนางอรุณไม่ชำระ แม้โจทก์จะปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาและจำเลยจะปฏิเสธการชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียว กรณีจึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
( ชวลิต ยอดเณร - จำลอง สุขศิริ - สมชาย พงษธา )
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอก ราชอาณาจักร
(2) ถ้าลูกหนี้โอน หรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนา ลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตน หรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการ ให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้ เพื่อประวิงการ ชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคง อยู่นอกราชอาณาจักร
ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป หรือโดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษา ซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควร ต้องชำระ
(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สิน อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่า ไม่สามารถ ชำระหนี้ได้
(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อย กว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้