ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




ไม่ถอนคนเดิมแต่ให้ตั้งคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วม

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

ไม่ถอนคนเดิมแต่ให้ตั้งคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วม

ศาลอาจไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากศาลเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด แม้ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ แต่ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตาย ขณะผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแล ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่ออกค่าค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ ไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตาย เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผ

นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นเลย ซึ่งจนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก

คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุด ซึ่งต้องดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4703/2552
 
มาตรา 1713  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1)  เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2)  เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3)  เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา 1719  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
 
มาตรา 1727  ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

          แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว

          นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          การที่ผู้คัดค้านทั้งสามร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนได้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอาจจะไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากศาลเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอยู่เดิมมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ แต่ก็ปรากฏว่าก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย แม้ขณะผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแล ทั้งเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่มีส่วนออกค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 อาจจะไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตาย เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมมรดกของนายบุญส่ง ผู้ตายกับให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

          ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทน

          ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านทั้งสาม

          ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากสารบบความ

          ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้องร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่ง ผู้ตาย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายบุญส่ง ผู้ตาย มีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส 3 คน ภรรยาคนแรกคือนางตุ๋ยหรือกุ๋ยหรือหรือสีกุย มีบุตรรวม 4 คน คือผู้คัดค้านทั้งสามกับนายสุชิน ภรรยาคนที่สองไม่ทราบชื่อและเสียชีวิตแล้วโดยมีบุตร 1 คน คือ นายสุพจน์ ภรรยาคนที่สามคือนางยุพา มีบุตร 2 คน คือนางสาวขวัญเรือน และผู้ร้อง ผู้ตายได้ให้การรับรองว่าบุตรทุกคนเป็นบุตรของตนแล้ว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้แสดงบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 และนำสืบว่าผู้ตายมีทายาทอยู่เพียง 2 คน คือนางสาวขวัญเรือน และตัวผู้ร้อง ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากนางยุพา ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนของผู้ตาย

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกโดยเสนอบัญชีเครือญาติ ตามเอกสารหมาย ร.3 ต่อศาลชั้นต้น ผู้ร้องมีเจตนาปิดบังจำนวนทายาทที่แท้จริงหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องทราบดีตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกแล้วว่าผู้คัดค้านทั้งสาม นายสุชิน และนายสุพจน์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยแต่ผู้ร้องไม่ระบุชื่อบุคคลดังกล่าวลงในบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 ผู้ร้องมิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ผู้ร้องทราบว่าผู้คัดค้านทั้งสาม นายสุชินและนายสุพจน์ เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตั้งแต่ก่อนที่ผู้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว การที่ผู้ร้องแสดงบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 และสำสืบว่าผู้ตายมีทายาทอยู่เพียง 2 คน คือตัวผู้ร้องและนางสาวขวัญเรือนพี่สาวของผู้ร้อง เมื่อรับฟังประกอบกับในระหว่างไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสามเมื่อทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 นำบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 ให้ผู้ร้องดู ผู้ร้องก็ยังเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายมีทายาทที่เกิดจากนางยุพาเพียงเท่าที่ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวอยู่อีก ทั้งภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยติดต่อหรือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามทราบเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวย่อมส่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องมีเจตนาไม่สุจริตแสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อต้องการปิดบังจำนวนทายาทที่แท้จริงของผู้ตายแล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากการเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดก และไม่ได้รับสินจ้างบำเหน็จจากการเป็นผู้จัดการมรดก ทั้งการที่ทายาทไม่มีชื่อระบุอยู่ในบัญชีเครือญาติก็ไม่ทำให้ทายาทนั้นเสียสิทธิในการรับมรดกแต่อย่างใด และในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายบังคับว่า จะต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องด้วยนั้น คงเป็นเพียงความเห็นของผู้ร้องเอง ซึ่งในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าแม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ตามแต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจ หรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตแสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตาย อันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปว่า ผู้ร้องได้กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทหรือไม่ ในข้อนี้ผู้ร้องเบิกความยอมรับว่า ภายหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้รวบรวมทรัพย์สินและจำหน่ายทรัพย์สินไปบางส่วน โดยขายที่ดินว่างเปล่าที่ตั้งอยู่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขายที่ดินพร้อมบ้านทาวน์เฮาส์ที่เขตสวนหลวงตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.10 อันดับที่ 5 และที่ 6 ไปในราคา 90,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ และได้เบิกเงินในบัญชีของผู้ตายที่ฝากไว้ในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 และที่ 2 ไปรวมเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ทั้งได้เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ถามค้านว่า เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของผู้ตายบางส่วนยังมิได้แบ่งให้แก่ทายาทคนอื่นอันเจือสมกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่ยืนยันว่านับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในวันที่ 22 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 ที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงย่อมเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว แต่ผู้ร้องก็ไม่ยอมแบ่งไม่ว่จะเป็นเงินฝากธนาคารหรือทรัพย์สินอื่นของผู้ตายตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.10 ที่ผู้ร้องนำสืบและฎีกาอ้างว่าผู้ร้องได้ขายทรัพย์มรดกบางส่วนและเบิกเงินจากธนาคารไปชำระหนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของผู้ตายและแบ่งปันเงินให้แก่หุ้นส่วนในการทำกิจการค้าของผู้ตายซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้กองมรดกได้ทั้งหมดนั้นคงเป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ของผู้ร้องเอง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นหรือแม้แต่บัญชีรายรับรายจ่ายที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าได้จัดทำไว้แล้วมาแสดงสนับสนุน ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสามร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนได้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่เสมอไปศาลอาจจะไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด ข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอยู่เดิมมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ อันอาจเกิดความเสียหายแก่ทายาทอื่น ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 แม้จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย แม้ขณะเมื่อผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแลทั้งเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่มีส่วนออกค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 อาจจะไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตายขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หากตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องอาจจะมีปัญหาความเป็นปรปักษ์ต่อกันและมีความคิดเห็นแตกต่างกันจนไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ อันจะเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกต่อไปนั้น เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้มีส่วนได้เสียก็อาจจะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726, มาตรา 1727 และมาตรา 1731 จึงหาเป็นข้อขัดข้องดังที่ผู้ร้องฎีกาอ้างไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมีรูปเรื่องและข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

( พิสิฐ ฐิติภัค - พีรพล พิชยวัฒน์ - ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว )

 

 

 

 

ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

สิทธิเรียกร้องมรดกของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่? ที่จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นมรดกก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท จำเลยจึงครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน แม้จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็ถือว่า จำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกัน อายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับ เพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ 

ทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 1 ปีจากทายาทผู้ครอบครอง

ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่?? โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วย

ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร?

ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน หรือจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จะมีผลอย่างไร? ถือว่าผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกเป็นเหตุให้ทายาทอื่นได้รับความเสียหายและมีสิทธิร้องขอให้ถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่? การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกหากผู้ร้องไม่ได้ระบุทายาทในบัญชีทายาทโดยธรรม จะมีผลให้ให้ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกหรือไม่??

ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก

ยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสีย แม้ว่าคำร้องใหม่นี้จะมีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เสียเช่นนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
 

 




ฟ้องคดีเรื่องมรดกและผู้จัดการมรดก

ทรัพย์มรดกของพระภิกษุผู้มรณภาพตกเป็นมรดกแก่วัด
เงื่อนไขของพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง
การโอนอันมีค่าตอบแทนและรับโอนโดยสุจริต
ไม่ได้ระบุทายาทในบัญชีเครือยาทถือว่าปดปิดหรือไม่
ผู้มีส่วนได้เสียถอนผู้จัดการมรดก
บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
มรดกที่ผู้เป็นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง
ผู้ค้ำประกันหนี้ค่าภาษีอากร-อายุความ
ฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้อย่างเจ้าหนี้สามัญ
คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
อายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกัน
พินัยกรรมยกสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกิน
ทายาทรับผิดไม่เกินทรัพย์มรดก
สิทธิรับมรดกของทารกในครรภ์มารดา
ผู้แทนโดยชอบธรรมขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วม
ผู้จัดการมรดก | สามีไม่ได้จดทะเบียน | ผู้มีส่วนได้เสีย
อำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก | พินัยกรรมเป็นโมฆะ
คู่สมรสและการแบ่งมรดกของคู่สมรส | การสมรสเป็นโมฆะ