-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร. 085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail: leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1
การโอนอันมีค่าตอบแทนและรับโอนโดยสุจริต
การกระทำอย่างไรที่จะถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน? การที่ผู้จัดการมรดกนำทรัพย์มรดกไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่กองมรดกโดยที่ทายาทโดยธรรมอื่นไม่ยินยอมสามารถทำได้หรือไม่?? การโอนอันมีค่าตอบแทนและรับโอนโดยสุจริตนั้น อย่างไรเรียกว่าสุจริต อย่างไรเรียกว่ามีค่าตอบแทน
อำนาจของผู้จัดการมรดกในการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อใช้หนี้กองมรดก ผู้ซื้ออยู่ในฐานะที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแม้ยังไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขาย การทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินให้โดยไม่มีค่าตอบแทนอันเป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ซื้อและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ซื้อที่ดินได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของ ข. ให้ ท. เพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. อันเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ที่กระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 ทายาทรวมทั้งจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้ ท. ไปก่อนและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดิน ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1300 ประกอบ มาตรา 1599 และมาตรา 1600
มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 1724 ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก
ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใดๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองชุม ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็ม ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1679/1049 เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา ให้แก่นางทองชุมในราคา 150,000 บาท และมีข้อตกลงว่าหากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่นางทองชุม 300,000 บาท โดยนางทองชุมชำระราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนโอนที่ดินอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนางเข็มและยื่นคำฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเข็มต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 553/2542 ขอแบ่งทรัพย์มรดกวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้โจทก์ในฐานะทายาทของนางทองชุมได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าที่ดินจำนวน 150,000 บาท พร้อมค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 450,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายเขียว เป็นบุตรของนางเข็ม เจ้ามรดก ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 โดยนายเขียวถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2521 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายเขียวจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางเข็มแทนที่นายเขียว ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่ตั้งจำเลยที่ 1 บุตรอีกคนหนึ่งของนางเข็มเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 สมคบกับนางทองชุมมารดาโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่นางทองชุมในราคาต่ำ โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมสัญญาจะขายที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 บอกล้างแล้วสัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของนางเข็มตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 553/2542 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 180,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 9 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยกและให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ (ที่ถูก พิพากษาแก้) ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1679/1049 หมู่ที่ 7 (4) ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางทองชุม หากจำเลยทั้งสองไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการจดทะเบียนโอนที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินได้ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 150,000 บาท และค่าเสียหายอีกจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางทองชุม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 8,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 และนายเขียว ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางเข็ม นางเข็มถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 โดยนางเขียวถึงแก่ความตายก่อนนางเข็มในวันที่ 28 กรกฎาคม 2521 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็มตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์เป็นบุตรของนางทองชุม ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 และเป็นผู้จัดการมรดกของนางทองชุมตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 ก่อนนางทองชุมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเข็มทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนางเข็มเจ้ามรดกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1679/1049 หมู่ที่ 7 (4) ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวาให้แก่นางทองชุมในราคา 150,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระค่าเยหายให้นางทองชุม 300,000 บาท นางทองชุมชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 และนางทองชุมร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 7 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 553/2542 ขอแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางเข็มแทนที่นายเขียว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 แล้วตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.5 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพราะการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางทองชุมมารดาโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและจำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ก่อนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 หรือไม่ เห็นว่า ในทางพิจารณาโจทก์มีนางจงดี เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีช่วยราชการงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโรงเรือนสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ราคาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทจำนวน 150,000 บาท เป็นราคาตามปกติไม่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริงที่จำเลยที่ 2 อ้างตัวเองเป็นพยานเบิกความว่า ราคาที่ดินแปลงพิพาทราคาไร่ละ 100,000 บาท ก็ดี นางศศิธร พยานจำเลยเบิกความว่า ที่ดินแปลงพิพาทหากขายให้บุคคลอื่นได้ราคาประมาณ 250,000 บาท ก็ดี แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนให้ฟังได้ว่าราคาซื้อที่ดินแปลงใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทมีราคาซื้อขายกันตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง อันจะทำให้เห็นว่านางทองชุมกับจำเลยที่ 1 สมคบกันซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า นางทองชุมเคยซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกไปจากจำเลยที่ 1 จำนวน 2 แปลง ด้วย แต่ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องขอเพิกถอนแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางทองชุมกับจำเลยที่ 1 เป็นการซื้อขายโดยสุจริตเช่นเดียวกับที่นางทองชุมเคยซื้อที่ดินมรดกแปลงอื่นจากจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทระหว่างนางทองชุมกับจำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริตและมีการชำระราคาครบถ้วนแล้ว และในวันที่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนซื้อขายที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์มีนางจงดีเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับคำขอจดทะเบียนเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านยืนยันว่า ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนมีจำเลยที่ 1 มากับนางทองชุมและพยานได้ทำการสอบสวนเบื้องต้นจำเลยที่ 1 ผู้ขายแล้ว จำเลยที่ 1 อ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายไปชำระหนี้กองมรดกของนางเข็ม ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้นางทองชุมเป็นผู้ยื่นและข้ออ้างว่าเพื่อนำเงินไปชำระหนี้มรดกเป็นข้ออ้างลอยๆ จึงเป็นเพียงความเห็นของจำเลยที่ 2 เองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นเมื่อได้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แม้นางทองชุมจะยังไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทนางทองชุมก็เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็มตามคำสั่งศาล ซึ่งนางศศิธรพยานจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า ที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็มพยานและจำเลยที่ 2 ทราบและได้ให้ความยินยอม จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็ม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเข็มทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้นางทองชุมโดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของนางเข็ม ซึ่งได้ระบุไว้ชัดแจ้งในคำขอจดทะเบียนสิทธิเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่กระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1724 ทายาททุกคนของนางเข็มรวมทั้งจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันต่อนางทองชุมในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเข็มได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้งานทองชุมไปก่อนแล้ว และได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้วทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่นางทองชุมและอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินเช่นนี้ นางทองชุมจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 หาใช่จำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 2 อาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่นางทองชุมผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อนโจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนางทองชุมจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ประกอบ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 1,500 บาท
( สุพัฒน์ บุญยุบล - พรเพชร วิชิตชลชัย - สุธี เทพสิทธา )
ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
สิทธิเรียกร้องมรดกของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่? ที่จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นมรดกก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท จำเลยจึงครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน แม้จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็ถือว่า จำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกัน อายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับ เพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้
ทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 1 ปีจากทายาทผู้ครอบครอง
ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่?? โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วย
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร?
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน หรือจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จะมีผลอย่างไร? ถือว่าผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกเป็นเหตุให้ทายาทอื่นได้รับความเสียหายและมีสิทธิร้องขอให้ถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่? การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกหากผู้ร้องไม่ได้ระบุทายาทในบัญชีทายาทโดยธรรม จะมีผลให้ให้ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกหรือไม่??
ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสีย แม้ว่าคำร้องใหม่นี้จะมีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เสียเช่นนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทน
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อนำมาใช้ในกิจการเหมืองแร่ สวนยางพาราโดยจดทะเบียนใส่ชื่อนายชัยสิน และจำเลย 9 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแทนโจทก์โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระหว่างการพิจารณาของศาลจำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายอันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี
แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จปิดบังจำนวนทายาท
คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุด ซึ่งต้องดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตาย