ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




แปลงหนี้ใหม่หนี้เดิมระงับผู้ค้ำประกันหลุดพ้น

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

แปลงหนี้ใหม่หนี้เดิมระงับผู้ค้ำประกันหลุดพ้น

สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กำหนดว่า “ถ้าลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ลูกหนี้ยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ต่อไปในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคาร” ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้หนี้เดิมคือหนี้ตามสัญญา ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชำระหนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6788/2552
 
การที่โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

          สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิม คือ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิด
________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระหนี้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 71,438,827.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 38,603,924.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,783,219.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องล้มละลายและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางคดีหมายเลขแดงที่ 2608/2546 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความชั่วคราว

          ต่อมา วันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 โดยเหตุว่าจำเลยที่ 5 ได้นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ 5,000,000 บาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารที่แต่ละฝ่ายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เพียงประเด็นเดียวว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 หากมิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงไม่สืบพยาน

            ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงินจำนวน 71,438,827.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,250,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

          จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันเพราะได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเพียงเพื่อรับรองฐานะของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้มาตั้งแต่แรก สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย และที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยตกลงว่าการผ่อนเวลาชำระหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ การลดหนี้ การประนีประนอมยอมความ หากโจทก์จะพึงมีกับจำเลยที่ 1 โดยจะแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมในการนั้นด้วยทุกกรณี จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 หากมิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีข้อความสรุปได้ว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และบริษัทสยามคอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ฝ่ายหนึ่งกับโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยคู่กรณีตกลงให้นำหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 16 ฉบับ ต้นเงิน 71,546,104.46 บาท ดอกเบี้ย 20,180,880.50 บาท รวมเป็นเงิน 91,726,984.96 บาท และภาระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือยินยอมชดใช้ความเสียหายตามการออกหนังสือค้ำประกันฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จำนวน 481,800 บาท รวมเข้ากับหนี้ของบริษัทสยามคอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 17 ฉบับ ต้นเงิน 32,646,748.80 บาท ดอกเบี้ย 9,129,648.29 บาท รวมเป็นเงิน 41,776,397.09 บาท รวมภาระหนี้ของลูกหนี้ทั้งสองรายตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 33 ฉบับ เป็นต้นเงิน 104,192,853.26 บาท ดอกเบี้ย 29,310,528.79 บาท กับภาระหนี้การออกหนังสือค้ำประกัน 481,800 บาท รวมเป็นเงิน 133,985,182.05 บาท แล้วกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ทั้งในส่วนของต้นเงินและดอกเบี้ย เฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในส่วนของต้นเงินที่ลูกหนี้แต่ละรายค้างชำระตกลงให้เปลี่ยนประเภทหนี้เป็นหนี้เงินกู้ระยะยาววงเงินรวมกัน 104,192,853.26 บาท โดยถือเป็นหนี้รายเดียวกันซึ่งลูกหนี้ทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดผ่อนชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา MLR ต่อปี โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2554 ภายใต้เงื่อนไขจำนวนต้นเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนตามที่กำหนดไว้กับดอกเบี้ยต่างหาก โดยมิได้แยกสัดส่วนความรับผิดของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้อ 6 ยังกำหนดว่า “ถ้าลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ลูกหนี้ยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ต่อไปในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคาร” เห็นได้ชัดว่าเป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิมคือหนี้ตามสัญญา ทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น...

            พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของโจทก์จากต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอโดยให้นำเงินจำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เข้าหักชำระหนี้ในวันดังกล่าวด้วย โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อนเหลือเพียงใดให้หักชำระต้นเงิน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง


( สมศักดิ์ เนตรมัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - ฐานันท์ วรรณโกวิท )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายสุรินทร์ นาควิเชียร

 มาตรา 349    เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น


               




ผู้ค้ำประกัน

ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม-กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อ
ผู้ค้ำประกันไล่เบี้ยลูกหนี้
จำเลยอุทธรณ์ไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ชอบ
ผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน