ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในผลคดี

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในผลคดี

การที่ทนายความทำสัญญาจ้างว่าความตกลงแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน ไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นโมฆะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6919/2544

การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้เงินรายละ 400,000 บาทและจำเลยที่ 4 ตกลงให้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าทนายความนั้นหมายถึงกรณีที่ฝ่ายจำเลยชนะคดีมรดกแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นที่ดิน แต่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทนั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องแบ่งให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลง บันทึกข้อตกลงจึงถือได้ว่าเป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความเมื่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกความชนะคดีเท่านั้นหากจำเลยทั้งสี่ตกเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง อันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน

วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการผู้ที่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทนายความจึงไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลคดีโดยตรงในทำนองซื้อขายความกันย่อมไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติทนายความฯ จะมิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความกับลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบอาชีพทนายความ เมื่อปี 2538จำเลยทั้งสี่ว่าจ้างโจทก์ให้ติดตามเรียกร้องและฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนางเล็ก ขาวล้ำเลิศ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 32804 ตำบลบางพลีใหญ่อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ จากนางประหยัดพุ่มโพธิ์ ผู้จัดการมรดกของนางเล็กจะโดยวิธีใดก็ตาม เมื่อได้รับมรดกดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยินยอมให้ที่ดินดังกล่าวเป็นค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน หรือชำระเงินแก่โจทก์คนละ 400,000บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ยินยอมให้ที่ดินดังกล่าวเป็นค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 150 ตารางวา หรือชำระเงินแก่โจทก์ 300,000 บาทตามบันทึกข้อตกลงท้ายฟ้อง หลังจากที่โจทก์รับจ้างเป็นทนายความให้จำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ได้ติดตามเรียกร้องให้นางประหยัดแบ่งทรัพย์มรดกของนางเล็กให้แก่จำเลยทั้งสี่ แต่นางประหยัดเพิกเฉยครั้นวันที่ 28 กันยายน 2538 โจทก์ (ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3) ได้ยื่นฟ้องนางประหยัดเป็นจำเลย ฐานเป็นผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดกตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4772/2538ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 นางประหยัดกับจำเลยทั้งสี่ได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 32804 ดังกล่าว ถือได้ว่าการงานซึ่งจำเลยทั้งสี่ว่าจ้างโจทก์เป็นผลสำเร็จแล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าจ้างตามสัญญาหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32804 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน ส่วนจำเลยที่ 4เป็นเนื้อที่ 150 ตารางวา ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการจดทะเบียนโอน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนโอน ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินคนละ 400,000 บาทและจำเลยที่ 4 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แก้ไขคำให้การเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยให้โจทก์เป็นทนายความติดตามเรียกร้องที่ดินโฉนดเลขที่ 32804 จากนางประหยัด พุ่มโพธิ์ ผู้จัดการมรดกของนางเล็ก ขาวล้ำเลิศ และไม่เคยตกลงจ่ายค่าจ้างตามที่โจทก์อ้าง บันทึกข้อตกลงท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม จำเลยทั้งสี่เคยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องนางประหยัดผู้จัดการมรดกของนางเล็กให้จัดแบ่งและส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 32804ตามส่วนของจำเลยทั้งสี่เป็นคดีแพ่งของศาลชั้นต้น มิได้ตกลงให้ฟ้องเป็นคดีอาญาฐานเป็นผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ทั้งมิได้กำหนดค่าจ้างว่าความ แต่หากโจทก์ฟ้องคดีแล้วคดีชนะก็จะให้ค่าทนายความตามสมควร โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทนายความจากฝ่ายจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่ได้ที่ดินมรดกจากนางประหยัด หาใช่สืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นผู้ทำการงานในฐานะทนายความตามที่จำเลยทั้งสี่ตกลงมอบหมายให้ทำไม่แต่นางประหยัดและบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำการงานนี้ โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากฝ่ายจำเลยไปแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 บาทโจทก์ประกอบอาชีพทนายความย่อมรู้ก่อนแล้วว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดจนพยานหลักฐานหามีมูลให้นางประหยัดมีความผิดทางอาญาไม่ พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการยุยงส่งเสริมให้ฟ้องร้องคดีอาญาเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2529 (ที่ถูก 2528) เป็นการต้องห้ามและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ข้อตกลงที่เรียกเอาที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นค่าจ้างก็ต้องห้ามตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์เข้าทำงานอะไร ส่วนใด วันเวลาใดงานจึงสำเร็จเมื่องานสำเร็จแล้วได้ส่งมอบงานให้จำเลยเมื่อวันเวลาใด และทวงถามโดยวิธีใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32804 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ในส่วนของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่คนละ 2 งาน ถ้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินให้แก่โจทก์คนละ 400,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่า (ทุนทรัพย์) ที่โจทก์ชนะคดี กับให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสองศาลและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยที่คู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่าโจทก์ประกอบอาชีพทนายความตามใบอนุญาตให้เป็นทนายความเอกสารหมาย จ.1 ตามวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 32804 ตำบลบางพลีใหญ่อำเภอบางพลีใหญ่ (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ของนางเล็กขาวล้ำเลิศ ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความติดตามเรียกร้องและฟ้องเอาส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทดังกล่าวจากนางประหยัดพุ่มโพธิ์ ผู้จัดการมรดกของนางเล็ก โดยจำเลยทั้งสี่ตกลงเรื่องค่าจ้างว่า เมื่อได้รับที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยินยอมยกที่ดินให้โจทก์เนื้อที่ครอบครัวละ 2 งาน หรือเงินจำนวน 400,000 บาทส่วนจำเลยที่ 4 ตกลงมอบที่ดินให้โจทก์ 150 ตารางวาหรือเงินจำนวน300,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13ตามลำดับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาจ้างว่าความหรือบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 เป็นโมฆะหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้นายมงคลรัตน์ พุกกนัต พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้แนะนำและนัดหมายให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปพบโจทก์เพื่อว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสี่ว่าในการตกลงค่าทนายความฝ่ายจำเลยพูดว่าหากเรียกที่ดินพิพาทมาได้โจทก์จะเรียกค่าทนายความเท่าใดก็ได้ โจทก์ได้บอกฝ่ายจำเลยว่าจะขอที่ดินพิพาท 200 ตารางวา ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ยอมตกลงด้วยว่าจะให้ที่ดินพิพาทเป็นค่าตอบแทนเมื่อโจทก์ฟ้องคดีและชนะคดีแล้ว และนายมงคลรัตน์ พยานโจทก์ได้เบิกความตอบคำถามติงของทนายโจทก์ว่า ในการตกลงค่าทนายความฝ่ายจำเลยจะให้เป็นที่ดินหรือเงินรายละ 400,000 บาท นั้นเนื่องจากจำเลยทั้งสี่มีฐานะยากจนไม่มีเงินเป็นค่าทนายความตามคำเบิกความของนายมงคลรัตน์ดังกล่าว เมื่อนำมาฟังประกอบข้อความในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้เงินรายละ 400,000 บาท และจำเลยที่ 4 ตกลงให้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าทนายความด้วยนั้น หมายถึงกรณีที่ฝ่ายจำเลยชนะคดีมรดกแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นที่ดิน แต่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทนั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องแบ่งให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 ดังนั้น บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 จึงถือได้ว่าเป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความเมื่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกความชนะคดีเท่านั้นหากจำเลยทั้งสี่ตกเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง อันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน ศาลฎีกาเห็นว่าวิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการผู้ที่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการจรรโลงความยุติธรรมในสังคมทนายความจึงไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลคดีโดยตรงในทำนองซื้อขายความกันย่อมไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะปรากฏว่าตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529ซึ่งออกตามความใน มาตรา 27(3)(จ) และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 จะมิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความในทำนองนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2543 (ประชุมใหญ่) ระหว่างบริษัทธีรคุปต์ จำกัดโจทก์นางสุเนตรา ปฐมวาณิชย์ หรือ ประไพกรเกียรติ์ จำเลย โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างว่าความหรือบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. 10 และ จ.13 หาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(สุรชาติ บุญศิริพันธ์ - กำพล ภู่สุดแสวง - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์)

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

มาตรา 27 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) บริหารกิจการของสภาทนายความตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา 7
(2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ เว้นแต่กิจการซึ่งมีลักษณะหรือสภาพที่ไม่อาจมอบหมายให้กระทำการแทนกันได้
(3) ออกข้อบังคับสภาทนายความเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ใน

พระราชบัญญัตินี้ และข้อบังคับว่าด้วย

(ก) การเป็นสมาชิกและการขาดจากสมาชิกของสภาทนายความ
(ข) การเรียกเก็บและชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่างๆ
(ค) การแจ้งย้ายสำนักงานของทนายความ
(ง) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(จ) เรื่องอื่นๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ หรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาทนายความตามกฎหมายอื่นรวมทั้งการแต่งตั้ง การบังคับบัญชาการรักษาวินัย และการออกจากตำแหน่งของพนักงานสภาทนายความ

มาตรา 51 ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับ
--ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ


 




ฎีกาเกี่ยวกับมรรยาทนายความ

ผู้รับมอบอำนาจเรียงหรือแต่งคำฟ้องได้-ไม่ต้องมีตั๋วทนาย
ถูกลงโทษผิดมรรยาททนายความ
ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
ว่าความอย่างทนายความ
ทนายความละเมิดอำนาจศาล | ขาดจากเป็นทนายความ
ห้ามทำการเป็นทนายความ