ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา

จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค.1 แต่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งยังระบุในสัญญาจะซื้อจะขายว่าหากโจทก์ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน จะให้ความสะดวก ให้ความร่วมมือในการออกเอกสารสิทธิจนเสร็จสิ้นเท่ากับจำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิแล้วมาหลอกขายให้ โจทก์เข้าใจว่าที่ดินนั้นจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะเสียเปล่าและต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8755/2551

          จำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 และต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 จำเลยขายที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 401 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ในราคา 330,000 บาท แก่โจทก์ โดยสัญญาว่าหากโจทก์จะขอเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยจะช่วยเหลือและให้ความร่วมมือในการออกเอกสารสิทธิจนเสร็จสิ้น ต่อมาโจทก์ไปติดต่อขอออกโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมีบุคคลอื่นออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก่อนแล้ว โจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ จึงแจ้งให้จำเลยทราบและขอให้คืนเงินแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงิน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์จริง จำเลยส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้ครอบครองที่ดินเป็นเวลาปีเศษ ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ จึงได้สิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินแล้ว โจทก์ไม่เคยติดต่อจำเลยเพื่อให้ความสะดวกในการขอออกโฉนดที่ดินตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่พิพาทจากจำเลยในราคา 330,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ เพราะที่ดินพิพาทดังกล่าวได้มีบุคคลอื่นออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 238 ไปแล้ว ตามบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศเอกสารหมาย จ.6 และบันทึกถ้อยคำรับรองเอกสารหมาย จ.10

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องคืนเงินที่ซื้อขายที่ดินที่พิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่พิพาทกันวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อใดผู้จะซื้อคือโจทก์ไปดำเนินการออกเอกสารสิทธิใด ๆ ผู้จะขายคือจำเลย ตกลงยินยอมให้ความสะดวกแก่ผู้จะซื้อ และให้ความร่วมมือในการดังกล่าวจนเสร็จสิ้นเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้มีการนำไปออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 238 และได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งนายบุญชูเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินซึ่งที่จดทะเบียนเอกสารเกี่ยวกับที่ดินเบิกความยืนยันว่า จำเลยเคยยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2535 และต่อมาได้ยื่นคำขอยกเลิกการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี 2540 ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า มีบุคคลอื่นครอบครองที่ดินพิพาทและได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วตั้งแต่ปี 2523 จำเลยจึงได้ขอยกเลิกการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี 2540 แต่จำเลยกลับนำที่ดินดังกล่าวมาขายให้โจทก์อีกในปี 2543 ทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่พิพาทแล้ว ทั้งยังระบุในสัญญาจะซื้อจะขายอีกว่าหากโจทก์ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยตกลงยินยอมให้ความสะดวก ให้ความร่วมมือในการออกเอกสารสิทธิจนเสร็จสิ้นเท่ากับจำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิแล้วมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าที่ดินพิพาทจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะเสียเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 และต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์ - พิทยา บุญชู - พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา )

 มาตรา 156  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
 ----ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่งได้แก่ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมเป็นต้น

มาตรา 224    หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
--ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
---การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 406     บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
---บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นหรือเป็นเหตุที่ได้ สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

มาตรา 412    ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

 




ซื้อขายที่ดิน

ลักษณะการวางมัดจำหรือการชำระหนี้บางส่วน
ผู้ซื้อที่ดินฟ้องขับไล่เจ้าของรวมได้หรือไม่?
หนังสือมอบอำนาจนอกวัตถุประสงค์
โอนสิทธิครอบครองที่ดินระหว่างราษฎรด้วยกัน
ซื้อขายที่ดินตามที่วัดได้จริง
ขายสิทธิครอบครองและส่งมอบการครองครองที่ดิน