ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




ลักษณะการวางมัดจำหรือการชำระหนี้บางส่วน

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

ลักษณะการวางมัดจำหรือการชำระหนี้บางส่วน

การที่โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินผู้จะขายมอบเงินแก่จำเลยผู้จะซื้อเพื่อให้การบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายเกิดผลในทางปฏิบัติ โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาหรือจุดประสงค์ให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้เกิดผลบังคับเป็นสัญญาใหม่ แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิม จึงไม่มีลักษณะเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยได้ตกเป็นโมฆะไปแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าเงินประกันที่โจทก์มอบแก่จำเลยนั้นเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3171/2543

          โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลย แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยภายในกำหนดได้เนื่องจากขัดข้องเรื่องเอกสาร จึงขอขยายระยะเวลา หลังจากที่มีการขอขยายระยะเวลาแล้วโจทก์คืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลย โจทก์ได้เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ 3,000,000 บาท เป็นประกันว่าโจทก์สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตกลงจะซื้อจะขายแก่จำเลยได้หาไม่แล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของจำเลย แต่หากโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วเสร็จก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมพร้อมกับคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แสดงว่าการที่โจทก์มอบเงินจำนวนนี้แก่จำเลยสืบเนื่องมาจาก สัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน เพื่อให้การบังคับตามสัญญาเกิดผลในทางปฏิบัติมิได้มีเจตนาหรือประสงค์ให้เงินจำนวนนี้ เป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้เกิดผลบังคับ เป็นสัญญาใหม่แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิมไม่ อีกทั้งโจทก์ผู้จะขายมอบเงินแก่จำเลยผู้จะซื้อเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่มีลักษณะ เป็นการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยฉบับเดิมตกเป็นโมฆะไปแล้วโจทก์กลับอุทธรณ์ว่าเงินจำนวนนี้เป็นการวางมัดจำ หรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเป็นคำเสนอสนอง สัญญาย่อมเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้โจทก์สามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้อีก จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
  
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2535 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยในราคา 30,000,000 บาท ตกลงจดทะเบียนโอนกันวันที่ 8 เมษายน 2535 แต่โจทก์ขัดข้องเรื่องเอกสาร จึงตกลงขอเลื่อนไปวันที่ 10 เมษายน 2535 เมื่อถึงวันที่ 10 เมษายน 2535 ได้มีการตกลงกันขยายระยะเวลาการจดทะเบียนโอนที่ดินออกไปภายใน 90 วันอีกนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2535 หลังจากนั้นโจทก์คืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลยและโจทก์เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ 3,000,000 บาท เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์ไม่สามารถจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยได้ให้เงินประกัน 3,000,000 บาท ตกเป็นของจำเลย แต่หากดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายแล้วเสร็จก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2535 พร้อมทั้งคืนเงินประกัน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารประกอบการจดทะเบียนที่ดินเสร็จจึงแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินภายใน 7 วัน แต่จำเลยกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 17,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 8,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยทราบว่าโจทก์ถูกศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ประกอบกับที่ดินติดจำนองธนาคารโจทก์จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลยได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จนในที่สุดโจทก์ยอมคืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลย จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามค่าเสียหายจากการลงทุนพัฒนาที่ดิน โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลย 3,000,000 บาท ฟ้องขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล. 719/2539 ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ในระหว่างที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 13 มกราคม 2535 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12762 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของโจทก์แก่จำเลยในราคา 30,000,000 บาท จำเลยชำระมัดจำจำนวน 5,000,000 บาทในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือกำหนดชำระเมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายใน 90 วันนับแต่วันทำสัญญา ครั้งแรกโจทก์จำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 8 เมษายน 2535 แต่โจทก์ขอเลื่อนไปวันที่ 10 เดือนเดียวกัน เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไม่สามารถไปจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลยได้ โจทก์จึงคืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลย และตกลงเลื่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปภายใน 90 วันนับแต่วันดังกล่าว โดยโจทก์มอบเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่จำเลยไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยได้ขออายัดที่ดินไว้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2535 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิจารณาคดีล้มละลายของโจทก์ใหม่ แล้วได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ออกจากสารบบความ โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยอีก 2,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะมาแต่แรกเพราะในขณะทำสัญญาโจทก์ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีหลักฐานเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสำคัญ โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้สัญญาจะซื้อจะขายจะตกเป็นโมฆะ แต่หลังจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีล้มละลายใหม่ซึ่งมีผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันถูกเพิกถอนแล้ว โจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาทแก่จำเลยเป็นการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง โจทก์จึงสามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ได้อีกนั้น เห็นว่า ในส่วนของเงินจำนวน 3,000,000 บาท นั้น โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า หลังจากที่มีการขอขยายระยะเวลาแล้วโจทก์ได้คืนมัดจำ 5,000,000 บาทแก่จำเลยไปแล้ว โจทก์ได้เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ 3,000,000 บาทเป็นประกันว่าโจทก์สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายแก่จำเลยได้ หากโจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่จำเลยให้เงินประกันจำนวน 3,000,000 บาท ตกเป็นของจำเลย แต่หากโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารการโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วเสร็จก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2535 พร้อมกับคืนเงินประกันจำนวน 3,000,000 บาทแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารแล้วเสร็จ จึงแจ้งให้จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดิน แต่จำเลยผิดสัญญาไม่มาดำเนินการและกลับบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามคำฟ้องดังกล่าวแสดงว่า การที่โจทก์มอบเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่จำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันเพื่อให้การบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติ โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาหรือจุดประสงค์ให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้เกิดผลบังคับเป็นสัญญาใหม่ แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิมแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งที่โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินผู้จะขายมอบเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามข้ออ้างของโจทก์ ก็ไม่มีลักษณะเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยได้ตกเป็นโมฆะไปแล้ว โจทก์กลับอุทธรณ์อ้างว่าเงินประกันจำนวน 3,000,000 บาท ที่โจทก์มอบแก่จำเลยนั้นเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง เป็นคำเสนอสนอง สัญญาย่อมเกิดขึ้นใหม่ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์สามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้อีก จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน
 
 
( วิรัช ลิ้มวิชัย - ระพินทร บรรจงศิลป - สมชาย จุลนิติ์ )
 
 
ป.พ.พ.

มาตรา 456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

ป.วิ.พ. มาตรา 225

มาตรา 225  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้
 

 




ซื้อขายที่ดิน

ผู้ซื้อที่ดินฟ้องขับไล่เจ้าของรวมได้หรือไม่?
หนังสือมอบอำนาจนอกวัตถุประสงค์
โอนสิทธิครอบครองที่ดินระหว่างราษฎรด้วยกัน
ซื้อขายที่ดินตามที่วัดได้จริง
สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
ขายสิทธิครอบครองและส่งมอบการครองครองที่ดิน