ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




โอนที่ดินให้บุตรไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ทนายความโทร0859604258

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258

-ติดต่อทางอีเมล  : leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3)  @peesirilaw  หรือ (4) peesirilaw   (5)   leenont             

 

ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) (ง) ซึ่งบัญญัติว่า การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน ไม่ให้ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542

            การขายที่ดินภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามีข้อยกเว้นหลายประการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไร แสดงว่าการขายที่ดินที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนอันถือได้ว่าเป็นการขายที่ดินที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา แต่เมื่อโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวให้บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร การโอนที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยเสน่หามิใช่กรณีที่ทำเป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้จะเป็นการโอนให้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาก็ตาม

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2550

           การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตามมาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ ยังมีข้อยกเว้นหลายประการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร แสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป แม้คดีนี้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนอันถือได้ว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

                โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งมารดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 470 ตารางวา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 อีกจำนวน 235 ตารางวา โดยมิได้ระบุว่าเป็นที่ดินส่วนใด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 โจทก์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนของโจทก์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนใด ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 343,200 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินให้เหตุผลว่า โจทก์ต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าการให้กรรมสิทธิ์รวมแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการขาย โจทก์อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลง คงเหลือ 114,400 บาท โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในการโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เนื่องจากเป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยไม่มีการแบ่งแยกไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนใด ถือว่าโจทก์ให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่ถือครองเกิน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ที่ดินมา ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/272/2547 ลงวันที่ 15 มกราคม 2547 (ที่ถูกลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547) หรือขอให้ลดค่าภาษีที่ต้องชำระเหลือเพียง 10,400 บาท

              จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวม (ไม่มีค่าตอบแทน) ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 1 ใน 2 ส่วน โดยที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เท่ากับถือกรรมสิทธิ์คนละ 470 ตารางวา ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของมารดาโจทก์อีก 1 ใน 2 ส่วน โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเพิ่มอีก 235 ตารางวา รวมทั้งสิ้นโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 705 ตารางวา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 โจทก์แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน ส่วนของบุคคลอื่นคงเดิม โดยตีราคาทรัพย์ที่โอนเป็นเงิน 5,200,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน 5,170,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) สำหรับเดือนธันวาคม 2538 ของโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเชิญพบโจทก์ 2 ครั้ง แต่โจทก์มิได้ไปพบและมิได้แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 91/15 (1) และ 91/16 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและเงินเพิ่มเติมตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเบี้ยปรับงดให้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.127/2546 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำวินิจฉัยว่า โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีค่าตอบแทนถือเป็นการขายตามมาตรา 90/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้โอนเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉับที่ 244) พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับอยู่ โดยมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้อันเป็นการแตกต่างจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) (ง) ซึ่งบัญญัติว่า การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน ไม่ให้ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อโจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมาไม่พร้อมกัน โดยที่ดินจำนวน 470 ตารางวา ในจำนวน 940 ตารางวา โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 ถือเป็นการครอบครองที่ดินเกินกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนที่ดินจำนวน 235 ตารางวา ใน 470 ตารางวา ได้รับเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นการถือครองเพียง 1 ปี ซึ่งการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่บุตรจำนวน 235 ตารางวา ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นที่ดินส่วนใด จึงพิจารณาปรับปรุงรายรับตามการประเมินเหลือเพียง 1 ใน 3 ของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของที่ดิน เป็นผลให้ภาษีตามการประเมินเปลี่ยนแปลงลดลง เป็นเงินภาษี 52,000 บาท เงินเพิ่ม 52,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 10,400 บาท รวม 114,400 บาท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
           จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1673 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 1 ใน 2 ส่วน โดยที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เท่ากับถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 470 ตารางวา ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของมารดาโจทก์อีก 1 ใน 2 ส่วน โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 235 ตารางวา รวมทั้งสิ้นโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 705 ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 โจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่นายสุรเชษฐ์ บุญธินันท์ บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เฉพาะส่วนของโจทก์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน โดยตีราคาทรัพย์ที่โอน 5,200,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนที่ดิน 5,170,000 บาท ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินและบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สิน โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 343,200 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลง เป็นเงินภาษี 104,000 บาท เงินเพิ่ม 104,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 20,800 บาท รวมลดให้ทั้งสิ้น 228,800 บาท คงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 52,000 บาท เงินเพิ่ม 52,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 10,400 บาท รวมเรียกเก็บทั้งสิ้นเป็นเงิน 114,400 บาท โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากโจทก์ได้รับแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมาไม่พร้อมกัน โดยจำนวน 470 ตารางวา ใน 940 ตารางวา ได้รับมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 เป็นการถือครองที่ดินเกินกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และจำนวน 235 ตารางวา ใน 470 ตารางวา ได้รับมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นการถือครองเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่บุตรจำนวน 235 ตารางวา ไม่สามารถระบุว่าเป็นที่ดินส่วนใด จึงพิจารณาปรับปรุงรายรับตามการประเมินลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ส่วนของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน เป็นผลให้ภาษีตามการประเมินเปลี่ยนแปลงลดลงตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์


                      มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า มาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติยกเว้นกรณีโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร เพราะเข้าลักษณะขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายใน 5 ปี นับแต่ได้มา ส่วนมาตรา 4 (6) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ซึ่งบัญญัติว่าการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนไม่ให้ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ย่อมไม่มีผลย้อนหลังไปถึงกรณีของโจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ยังมีข้อยกเว้นหลายประการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร แสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป แม้คดีนี้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนอันถือได้ว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

  พิพากษายืน
( วีระศักดิ์ เสรีเศวตรัตน์ - ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช - ชัช ชลวร )

หมายเหตุ

คำว่า "ขาย" ในแง่ภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ได้บัญญัติให้หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ฉะนั้น คำว่า "ขาย" ในแง่ภาษีธุรกิจเฉพาะจึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ขาย" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การให้โดยเสน่หาหรือการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทนจึงถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ดังกล่าว แม้จะไม่ถือเป็นการขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม อย่างไรก็ดีการขายที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6)

กรณีอย่างไรจึงจะถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข แต่การกำหนดนั้นก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่เห็นได้ว่าเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ กรณีที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเท่านั้น ฉะนั้น หากมีการกำหนดให้กรณีที่มิใช่การขายเป็นทางค้าหรือหากำไรถือเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรด้วย ย่อมเป็นการกำหนดเกินขอบเขตที่กฎหมายแม่ได้ให้อำนาจไว้ กรณีที่กำหนดขึ้นมานั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดย่อมใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 11 (2) เพิกถอนได้ หากศาลปกครองสูงสุดไม่เพิกถอน ศาลภาษีอาการกลางและศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรซึ่งเป็นศาลยุตธรรมย่อมมีอำนาจตีความว่า กรณีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดขึ้นมานั้นไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่อยู่ในบังคับจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เสียภาษี

รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้จะเป็นกรณีที่บิดามารดาโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยเสน่หาหรือแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ตามกรณีจึงเป็นการกำหนดให้ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรโดยไม่คำนึงว่าความจริงเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ เมื่อกรณีที่บิดามารดาโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยเสน่หาไม่อาจถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10889/2546 วินิจฉัยว่า "การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิได้เป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 จึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การโอนที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยเสน่หามิใช่กรณีที่ทำเป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้จะเป็นการโอนให้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาก็ตาม"

คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2550 ที่กำลังหมายเหตุอยู่นี้ก็เดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และต่อมาพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) (ง) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็บัญญัติให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้จะเป็นการโอนภายใน 5 ปีก็ตาม

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนก่อนหรือหลังพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ การโอนนั้นไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพียงแต่อ้างตัวบทกฎหมายต่างกัน กล่าวคือ การโอนก่อนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับจะอ้างกฎหมายแม่คือประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) โดยถือว่าการโอนดังกล่าวไม่ถือเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ส่วนการโอนหลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับจะอ้างมาตรา 4 (6) (ง) ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
                                   ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม


              ประมวลรัษฎากร

 มาตรา 91/1 ในหมวดนี้
    (1) " รายรับ " หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ 
    (2) " มูลค่า " หมายความว่า ราคาตลาดของทรัพย์สิน ของกิจการ ของค่าตอบแทนหรือของประโยชน์ใด ๆ
    (3) " ราคาตลาด " หมายความว่า ราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง
                  ในกรณีที่ราคาตลาดมีหลายราคาหรือไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอน ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้ราคาตลาดเป็นมูลค่าของสินค้าหรือบริการได้
    (4) " ขาย " หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
                      ให้นำบทนิยามคำว่า "บุคคล" "บุคคลธรรมดา" "คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" "นิติบุคคล"   "ตัวแทน" "สถานประกอบการ" และ "เดือนภาษี" ตามมาตรา 77/1 มาใช้บังคับ
                          มาตรา 91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อ
    (1) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
    (2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป หรือ
    (3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้ประกอบกิจการ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อการคำนวณภาษี

                          มาตรา 91/16 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
    (1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อผู้ประกอบกิจการมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ
    (2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการหรือในเอกสารอื่นประกอบแบบแสดงรายการเพื่อให้ถูกต้อง
    (3) กำหนดราคาขายสินค้าโดยเทียบเคียงกับราคาขายในวันเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงกันได้
    (4) กำหนดดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราการออกตั๋วเงิน หรือการส่งเงินไปต่างประเทศตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงได้
    (5) กำหนดรายรับซึ่งผู้ประกอบกิจการควรได้รับ เพราะผู้ประกอบกิจการกับผู้ซื้อมีการควบคุมหรือความสัมพันธ์กันในด้านทุนหรือด้านการจัดการ
    (6) กำหนดดอกเบี้ย ราคาทรัพย์สิน หรือค่าบริการ ตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงิน วันที่โอนหรือให้บริการ ในกรณีที่การให้กู้ยืมเงิน การโอนทรัพย์สิน หรือการให้บริการนั้นไม่มีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ หรือมีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
    (7) กำหนดรายรับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบกิจการ หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบกิจการเองหรือของผู้ประกอบกิจการอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควร
    (8) ประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้อง เมื่อมีกรณีตามมาตรา 91/15 (3) โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (7) ก็ได้

                              มาตรา 89/1 บุคคลใดไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
                             ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา 3 อัฏฐ และได้มีการชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
                             การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือยื่นแบบนำส่งภาษีตามส่วน 7 จนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่ง
 

ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน  แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม  ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง 

บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายประเสริฐ โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนางพิสมร ภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายประเสริฐ ถึงแก่ความตายก่อนนายประเสริฐ โดยมีทรัพย์มรดกนายประเสริฐ เป็นคู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกของนางพิสมร  เมื่อนายประเสริฐ ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของพิสมร โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายประเสริฐจึงมีสิทธิรับมรดกของนางพิสมร ในส่วนที่้ตกได้แก่นายประเสริฐ ได้  

 

 




ฎีกาปี2550

ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน
เรียกค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเอง
ผู้พิพากษาคนเดียวลงโทษจำคุก 8 เดือนได้หรือไม่?
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
สิทธิเรียกร้องไล่เบี้ยลูกจ้าง
ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ผู้มีส่วนได้เสียสิทธิเพิกถอนผู้จัดการมรดก
การคิดดอกเบี้ยผิดนัด-หนี้ที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาชำระหนี้
ความรับผิดของผู้รับประกันภัย
ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง
อายุความสิทธิเรียกร้องมูลละเมิด
คำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา
ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด
ละเมิดอำนาจศาล-ทนายความเรียกค่าวิ่งเต้นคดี
ใบแต่งทนาย-ทนายความขอแรง
อำนาจสอบสวน ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ความผิดฐานพรากเด็ก(ผู้เยาว์)อายุยังไม่เกิน 15 ปี
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ร้องขัดทรัพย์-ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
ขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว-ควบคุมหรือขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
พรากผู้เยาว์,กระทำชำเราเด็กหญิงไม่เกิน 15 ปี
มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ
นับอายุความละเมิดเรียกค่าเสียหาย
ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม-ผู้เสียหาย
สัญญาขายฝาก-การวางทรัพย์
การเข้ามอบตัวถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว
ภาระจำยอมโดยอายุความ-ใช้ทางในลักษณะปรปักษ์
คำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นที่สุด
อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
การใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ
ฐานค่าจ้างในการคำนวณจ่ายค่าชดเชย
ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ
คำร้องสอดเป็นฟ้องซ้อน
พิพากษาเกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้อง
เรียกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
หนี้ที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง
ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสั่งริบ
ผู้ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วเงิน
คำสั่งยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ | อุทธรณ์คำสั่งยกคำร้อง
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ฎีกาไม่มีลายมือชื่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าชดเชยการเลิกจ้างและดอกเบี้ย
สิทธิในการดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วม
ช่วยซ่อนเร้นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด
การกระทำต่อเนื่อง-ความผิดฐานบุกรุก
ขอให้ศาลรวมโทษจำคุก,ความผิดหลายกรรม
ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบหรือไม่?
ครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย 62 เม็ด โทษ 4 ปี 9 เดือน
ผลของการไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน
การประเมินภาษีเงินได้-อำนาจออกหมายเรียก
สิทธิแจ้งความร้องทุกข์ของผู้เสียหาย
กฎหมายยกเลิกความผิด-การใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำลย
สิทธิของผู้รับจำนอง-เจ้าหนี้บุริมสิทธิ
ไม่แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาทราบ
ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน-ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์
การฟอกเงิน-ยกประโยชน์แห่งความสงสัย
บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
ตรวจค้น-จับกุมมิชอบด้วยกฎหมาย
นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ
ลูกหนี้ร่วม-เจ้าหนี้ฟ้องให้ล้มละลายได้
ศาลไม่อาจลงโทษเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง
บุตรบุญธรรม
เจ้าเพนักงานพิทักษ์ทรัพย์-สิทธิจัดการทรัพย์สินลูกหนี้