
เรียกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont
ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทผู้รับประกันภัยเรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกที่ผู้เอาประกันภัยได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่เพราะไม่ใช่กรณีการรับช่วงสิทธิ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของ ม. และ ส. ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. และ ส. บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่การที่จำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และคนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสู้ความโดยมีเหตุสมควร สมควรกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 873,255 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 806,167 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 846,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 779,167 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 9 มิถุนายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิของโจทก์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาประกันภัย โจทก์ขับรถยนต์คันดังกล่าวจากเชียงใหม่มุ่งหน้าไปทางอำเภอหางดงระหว่างทางเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะของนายสุทัศน์ อ่ำเทศ แล้วรถยนต์ของโจทก์พุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนกับรถยนต์เก๋งของนางสาวมรกต และรถยนต์เก๋งของนายพิษณะ ได้รับความเสียหาย ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของนางสาวมรกตและนายสุทัศน์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของนางสาวมรกตและนายสุทัศน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของนางสาวมรกตและนายสุทัศน์ได้รับความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 2.3 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวมรกตและนายสุทัศน์บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1492/2524 ระหว่างบริษัทยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค (1971) จำกัด โจทก์บริษัทไทยเอเชียประกันภัย จำกัด จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์มีจำนวนเท่าใด โจทก์มีนางสาววรรณวรางค์ เบิกความว่า โจทก์จำเป็นต้องใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการทำงานจึงต้องเช่ารถของนายอำนวย เสียค่าเช่ารถเพื่อใช้ในการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นเวลา 9 เดือน ค่าเช่ารถวันละ 600 บาท รวมเป็นเงิน 162,000 บาท ตามสัญญาเช่ารถยนต์ เมื่อพิจารณาสัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าโจทก์มีสัญญาเช่ารถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 วันที่ 15 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 กับวันที่ 2 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2540 รวมระยะเวลา 113 วัน มาแสดงเท่านั้น การเช่ารถยนต์ในช่วงอื่น นอกจากนี้โจทก์เพียงแต่เบิกความลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์โจทก์ตามภาพถ่ายแล้ว เห็นว่า ระยะเวลา 113 วัน น่าจะพอเพียงสำหรับการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ เมื่อศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์วันละ 500 บาท โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์จำนวน 56,500 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์มีจำนวนเท่าใด โจทก์มีนางสาววรรณวรางค์ เบิกความว่า รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยได้ส่งไปซ่อมที่อู่ณรงค์ชัยการช่าง ทางอู่ตีราคาค่าซ่อมจำนวน 235,636 บาท ตามใบเสนอราคา เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดส่งรถยนต์ของโจทก์เข้าซ่อมที่อู่ณรงค์ชัยการช่าง แสดงว่าจำเลยมีความเชื่อถือในอู่ดังกล่าว ราคาค่าซ่อมที่เสนอมาจึงน่าจะถูกต้อง จำเลยคงมีนายภูวนาถ พนักงานสินไหมของจำเลยเบิกความว่า ค่าซ่อมประมาณ 150,000 บาท เห็นว่า นายภูวนาถเป็นพนักงานของจำเลยย่อมเบิกความในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย แต่เป็นคำเบิกความลอยๆ ตามที่ตนคาดคะเนเอาเอง โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่ารายการค่าซ่อมที่ทางอู่ณรงค์ชัยการช่างเสนอราคามานั้นมีรายการใดที่สูงเกินความจริง และที่ว่าราคาตามใบเสนอราคาสามารถต่อรองได้ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะสามารถต่อรองราคาได้เท่านั้น ไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์โจทก์ตามภาพถ่าย เห็นว่า ค่าซ่อมที่โจทก์เรียกร้องมาเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุและคนขับรถยนต์ของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสู้ความโดยมีเหตุสมควร สมควรกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 700,661 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี มาตรา 226 บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้ รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบ บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควร จะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตาม สัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัย นั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอา ประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้อง เสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอา ประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย ผู้คัดค้านอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก รับรองและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ตายเป็นบุตร ส่งเสียให้การศึกษา ถือได้ว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว แต่ผลของกฎหมายเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนที่ดินอีกแปลงหนึ่ง พร้อมตึกแถว อันเป็นทรัพย์มรดกใส่เป็นชื่อของตนเองทางทะเบียน แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารเป็นประกันหนี้ของตนเองและผู้อื่น ในวงเงินสูงถึงสิบล้านบาทเศษ ผู้จัดการมรดกอ้างว่าจะนำเงินมาดำเนินการปลูกสร้างแฟลตเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ทายาท พฤติการณ์ในการจัดการมรดกส่อแสดงไปในทางไม่สุจริต เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หากจะให้เป็นผู้จัดการมรดกต่อไป การจัดการมรดกย่อมจะล่าช่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาทได้ สมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกรายนี้
|