
หนี้ที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont
หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารต่างสาขาที่ลูกหนี้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันกับอีกสาขาหนึ่งแต่ระบุข้อความในสัญญาจำนองว่าเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อธนาคารเจ้าหนี้ แม้ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ในสาขาหนึ่งครบถ้วนแล้วก็ตามสัญญาจำนองยังไม่ระงับสิ้นไป สัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับธนาคารจำเลยมีความหมายแจ้งชัดว่า นอกจากจะเพื่อเป็นประกันเงินที่โจทก์กู้จากจำเลยแล้วยังเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยอีกด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลยสาขาสามพรานครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งแม้จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากนิติกรรมที่ทำกับจำเลยต่างสาขากัน แต่ก็เป็นหนี้ที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยเช่นกัน ถือได้ว่าโจทก์ยังมีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองอยู่ สัญญาจำนองจึงไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 64852 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงรับว่า หนี้ของโจทก์ในคดีนี้จำเลยได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ตามสัญญาจำนอง สัญญากู้ยืมเงิน รายการบัญชีและหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์แถลงรับว่าโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระจำเลยที่สาขารังสิตตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง หนี้ที่สาขารังสิตอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 64852 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลยที่สาขาสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 64852 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครไว้แก่จำเลยตามสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาจำนอง และโจทก์ชำระเงินกู้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 64852 ให้แก่โจทก์เนื่องจากโจทก์มีหนี้ค้างชำระแก่จำเลย ที่สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์หรือไม่ ปรากฏตามสัญญาจำนองข้อ 1 ระบุว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้และภาระผูกพันใดๆ ของนางสาวอรวรรณ ที่มีต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้รับจำนอง ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นในภายหน้าทุกลักษณะ ทุกประเภทหนี้ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท และตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 2 ระบุว่า หนี้สินและภาระผูกพันใดๆ ที่จำนองเป็นประกัน ได้แก่หนี้สินและภาระผูกพันทุกประเภท ทุกอย่าง ที่มีต่อผู้รับจำนองแล้วในเวลานี้และที่จะมีต่อไปในภายหน้า เมื่อหนี้สินและภาระผูกพันประเภทใดประเภทหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งระงับสิ้นไป แต่หนี้สินและภาระผูกพันประเภทอื่นยังมีอยู่หรือจะมีต่อไปในภายหน้า สัญญาจำนองไม่ระงับสิ้นไป คงผูกพันเป็นประกันต่อไป เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายอย่างแจ้งชัดว่า สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวนอกจากจะเพื่อเป็นประกันเงินที่โจทก์กู้จากจำเลย ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ยังเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยอีกด้วย ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี แม้จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการทำนิติกรรมกับจำเลยต่างสาขากัน แต่เป็นหนี้ที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยเช่นกันถือได้ว่า โจทก์ยังมีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองรายนี้อยู่ แม้โจทก์จะได้ชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลย สาขาสามพราน ครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองก็ไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน ( พันวะสา บัวทอง - พินิจ บุญชัด - สมศักดิ์ ตันติภิรมย์ ) มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย ผู้คัดค้านอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก รับรองและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ตายเป็นบุตร ส่งเสียให้การศึกษา ถือได้ว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว แต่ผลของกฎหมายเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนที่ดินอีกแปลงหนึ่ง พร้อมตึกแถว อันเป็นทรัพย์มรดกใส่เป็นชื่อของตนเองทางทะเบียน แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารเป็นประกันหนี้ของตนเองและผู้อื่น ในวงเงินสูงถึงสิบล้านบาทเศษ ผู้จัดการมรดกอ้างว่าจะนำเงินมาดำเนินการปลูกสร้างแฟลตเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ทายาท พฤติการณ์ในการจัดการมรดกส่อแสดงไปในทางไม่สุจริต เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หากจะให้เป็นผู้จัดการมรดกต่อไป การจัดการมรดกย่อมจะล่าช่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาทได้ สมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกรายนี้
|