
ละเมิดอำนาจศาล-ทนายความเรียกค่าวิ่งเต้นคดี
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont ละเมิดอำนาจศาล-ทนายความเรียกค่าวิ่งเต้นคดี การเรียกค่าวิ่งเต้นคดี แม้ทนายความจะได้เรียกเงินและรับเงินกันนอกศาลก็ตาม แต่ภายหลังได้มีการทวงเงินในบริเวณศาลและมีการคืนเงินกันในบริเวณศาลถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550 แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทางโทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้นคดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมาเป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว คดีสืบเนื่องจากผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101/2545 ของศาลชั้นต้น ร้องเรียนต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดจาหลอกลวงผู้กล่าวหากับนางสุวารี ภริยาของผู้กล่าวหาว่าสามารถวิ่งเต้นเบื้องบนเพื่อช่วยเหลือผู้กล่าวหาให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกในคดีดังกล่าวชั้นศาลอุทธรณ์ได้ เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหากับนางสุวารีหลงเชื่อและมอบเงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาไปรวม 240,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ลงโทษจำคุก 5 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้กล่าวหามีกำหนด 4 ปี ฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101/2545 ของศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหารับเป็นทนายความชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้กล่าวหา โดยได้รับเงิน 240,000 บาท จากผู้กล่าวหา และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของพนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเขต 6 พิษณุโลกว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุอันใดจะแกล้งเบิกความปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาให้ต้องรับโทษ การที่ผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้รับเงินจากผู้กล่าวหาไปจริง จำนวน 240,000 บาท แต่เป็นเงินค่าจ้างว่าความนั้น เห็นว่า หากเป็นเงินค่าจ้างว่าความในชั้นอุทธรณ์จริงก็ไม่น่าจะเป็นจำนวนมากเช่นนั้น อีกทั้งก็ไม่ควรยอมคืนค่าจ้างว่าความให้ จึงน่าเชื่อว่าเงินดังกล่าวที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับจากผู้กล่าวหาส่วนหนึ่งเป็นค่าวิ่งเต้นคดี ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าหลังจากที่ได้ตกลงว่าจ้างผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความแล้วต่อมาได้มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ โดยผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าจะติดต่อวิ่งเต้นคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ให้และได้ติดต่อแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เบื้องบน 200,000 บาท ผู้กล่าวหาตกลงและนัดให้ไปรับมอบเงินที่บ้านผู้กล่าวหา เมื่อผู้ถูกกล่าวหารับเงินดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ผู้กล่าวหาจึงทวงเงินคืนจากผู้ถูกกล่าวหาหลายครั้ง เคยมาติดตามทวงคืนในบริเวณศาล 3 ครั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าให้รอไปก่อนบ้าง ยังมีเงินไม่ครบบ้าง ผู้กล่าวหาจึงไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหานัดให้ผู้กล่าวหาไปรับเงินคืนจำนวน 200,000 บาท ที่โรงจอดรถของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นผู้กล่าวหาก็ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ เห็นว่า แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทางโทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้นคดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมาเป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา 5 เดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้ลดน้อยลง” พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 (ข) วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ลงโทษจำคุก 3 เดือน ( มงคล ทับเที่ยง - สุรชาติ บุญศิริพันธ์ - ฐานันท์ วรรณโกวิท ) หมายเหตุ มีสุภาษิตละตินว่า Baratriam committit qui propter pecuniam justitiam baractat แปลว่า คนที่เอาความยุติธรรมไปแลกกับเงินคือคนก่อกวนความสงบในศาล ก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2544 (ส.5/196) นางผัน ปัญญา กับพวก โจทก์ นางเฉลียว จำเลย นายไสว ผู้ถูกกล่าวหา วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเองว่าเป็นอัยการและหลอกจำเลยในบริเวณศาลชั้นต้น ทั้งมีการรับเงินที่โรงอาหารซึ่งอยู่ภายในบริเวณศาลชั้นต้นด้วย แม้เหตุจะมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลแต่ก็เกิดในบริเวณศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยหาจำต้องดำเนินการทางพนักงานสอบสวนดังที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างไม่ (จำคุก 3 เดือน) การเป็นความในศาลที่กินระยะเวลานานนับปี ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตของผู้เป็นความอยู่เสมอ จิตใจย่อมจะว้าวุ่นหวาดระแวง ยิ่งการเป็นความในศาลสูงใช้เวลานานเป็นหลายปี ย่อมเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพอาศัยโอกาสนี้เข้ามาแอบอ้างหากินเรียกร้องผลประโยชน์อ้างว่าจะไปวิ่งเต้นผู้พิพากษา หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า ดักไซแห้ง เป็นต้น หากศาลสูงมีพัฒนาการไปในทางที่พิจารณาคดีได้เร็วกว่านี้ปัญหาทำนองนี้อาจจะลดน้อยลงไปได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย ผู้คัดค้านอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก รับรองและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ตายเป็นบุตร ส่งเสียให้การศึกษา ถือได้ว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว แต่ผลของกฎหมายเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
|