
ทำบันทึกการยืมทรัพย์มอบให้ไปขายไม่เป็นยักยอกทรัพย์ โทร0859604258 -ปรึกษากฎหมาย ทนายความ (นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ) โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ ID line : (1) @leenont หรือ (2) @peesirilaw -Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE
ทำบันทึกการยืมทรัพย์มอบให้ไปขายไม่เป็นยักยอกทรัพย์ ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วม(ผู้เสียหาย)แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินที่ยืมคืนเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วม(ผู้เสียหาย)ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเงินส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องโจทก์
เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น คดีนี้เมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจำเลยรับว่าต้องคืนเงิน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ว. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 จำเลยทำบันทึกการยืมทับทิมไข่นูน ขนาด 39 กะรัต 1 เม็ด ราคา 250,000 บาท ทับทิมไข่ยาว 2 เม็ด ราคา 550,000 บาท ทับทิมกินบ่เซี้ยงรูปสี่เหลี่ยม 1 เม็ด ราคา 180,000 บาท จากโจทก์ร่วมไปขายเป็นเงิน 980,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยโอนเงินชำระราคาทับทิมให้แก่โจทก์ร่วม 200,000 บาท และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยโอนเงินชำระราคาทับทิมให้แก่โจทก์ร่วมอีก 200,000 บาท จากนั้นจำเลยนำเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาประชานิเวศน์ 1 จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 สั่งจ่ายเงิน 200,000 บาท และฉบับที่สอง ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 สั่งจ่ายเงิน 300,000 บาท ซึ่งลูกค้าจำเลยนำมาชำระหนี้แก่จำเลย ส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วม แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จากนั้นจำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย 5 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วม ฉบับแรกสั่งจ่ายวันที่ 21 มีนาคม 2561 ฉบับที่สองวันที่ 10 เมษายน 2561 ฉบับที่สามวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ฉบับที่สี่วันที่ 13 พฤษภาคม 2561 และฉบับที่ห้าวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งห้าฉบับเช่นกัน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สอดให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกการยืมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าจำเลยยืมทับทิมไปจากโจทก์ร่วมนั้น มีการระบุราคาทับทิมแต่ละรายการไว้อย่างชัดเจน แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความว่า การที่จำเลยนำทับทิมดังกล่าวไปขายนั้น หากลูกค้าต่อรองราคาจำเลยต้องแจ้งโจทก์ร่วมก่อน แต่โจทก์ร่วมกลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า จำเลยเคยรับพลอยจากโจทก์ร่วมไปขายซึ่งมีการทำบันทึกการยืมเช่นเดียวกับบันทึกการยืมเอกสารหมาย จ.1 โดยโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะได้รับเงินตามที่ระบุไว้ในบันทึกการยืมเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น จำเลยจะนำทับทิมดังกล่าวไปขายแก่ผู้ใดและขายในราคาเท่าใด โจทก์ร่วมไม่สนใจและไม่รับรู้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยโจทก์ร่วมกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากจำเลย ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จากการขายทับทิมคืนเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
สำหรับคำขอให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คดียักยอกถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น คดีนี้เมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจำเลยรับว่าต้องคืนเงิน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์ระบุในคำฟ้องก็ตามทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาการแบ่งสินสมรสเป็นอันยุติไปพร้อมกับการหย่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์ระบุในคำฟ้องได้
|
คำพิพากษาคดีอาญา