ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะในการใช้ทาง

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะในการใช้ทาง

การใช้ทางแบบคุ้นเคยกันในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพื่งพาอาศัยกันและเป็นการได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้วแม้จะได้นำดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทตลอดมาทุกปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากใครก็ตาม ก็เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกของผู้ใช้ทางเท่านั้น พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะในการใช้ทางไม่ใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางอย่างเป็นปรปักษ์ แม้จะได้ใช้ทางมานานเกิน 10 ปี ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  883/2552

          จำเลยที่ 3 คุ้นเคยกับ บ. มารดาโจทก์ในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันการที่จำเลยที่ 3 และบริวารใช้ทางพิพาทเป็นการได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้วส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าพังรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 และใช้ทางพิพาทเรื่อยมาตลอดจนนำที่ดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทมาตลอดทุกปีโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับ บ. หรือโจทก์แล้ว จึงถือได้ว่า การพังรั้วของจำเลยที่ 3 ก็เพื่อความสะดวกในการขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 ส่วนการนำดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทก็เพื่อความสะดวกในการใช้ทางพิพาทของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการถือวิสาสะของจำเลยที่ 3 เท่านั้น หาใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับ บ. หรือโจทก์แต่อย่างใดไม่ เช่นนี้แม้จำเลยที่ 3 จะใช้ทางพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด
 
มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา 1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 โดยแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40033 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40028 และจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40029 โดยที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยทั้งสาม เขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสามเดิมนางบุญรอดเกาะประโทน มารดาโจทก์ขณะมีชีวิตอยู่ได้สร้างรั้วกั้นเขตไว้เป็นคอนกรีตอยู่ส่วนล่างครึ่งหนึ่งและเป็นลวดหนามส่วนบนครึ่งหนึ่งไว้ตลอดแนว พร้อมทั้งถมทางไว้สำหรับเข้าออกจากบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะ หลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 3539 มาแล้ว โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิเดินและขับพาหนะผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้อนุญาต โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำลายรั้วที่นางบุญรอดสร้างไว้ แล้วทำประตูกว้างประมาณ 1 เมตรเศษ สำหรับเดินและขับพาหนะเข้าออกผ่านที่ดินโจทก์เพื่อไปสู่ถนนสาธารณะ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำลายรั้วที่นายบุญรอด ทำไว้ระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกทั้งหมด แล้วสร้างรั้วคอนกรีตขึ้นใหม่ตลอดแนวที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 พร้อมทั้งสร้างประตูขนาดกว้าง 4 เมตรเศษ ตรงที่ดินโฉนดเลขที่ 40028 ของจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เดินและขับพาหนะเข้าออกบ้านของตนเองผ่านที่ดินของโจทก์ออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์ได้ห้ามปรามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ไม่เป็นผลต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2539 โจทก์จึงปักหลักปิดกั้นที่ทางเข้าที่ดินของโจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสามใช้เป็นทางผ่านเข้าออกอีกต่อไป ต่อมาจำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 923/2539 ของศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินจนศาลมีคำสั่งให้โจทก์เปิดทางดังกล่าวไว้ก่อน คดีอยู่ระหว่างพิจารณา การที่จำเลยทั้งสามได้ทำลายรั้วกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งสามแล้วทำประตูสำหรับเดินและขับพาหนะเข้าออกผ่านที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนสาธารณะนั้น จึงทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 ของโจทก์นั้น ได้ประกาศขายและมีผู้ติดต่อขอซื้อจากโจทก์ในราคา 6,400,000 บาท โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้แล้วหากจำเลยทั้งสามไม่ทำละเมิดโจทก์ โจทก์สามารถขายที่ดินของโจทก์ได้เงินทันที จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่สามารถจำหน่ายที่ดินของโจทก์ได้ หากนำเงินไปฝากธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ย จึงขอคิดค่าขาดประโยชน์เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 6,400,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ปิดประตูตรงรั้วที่ดินผ่านจากที่ดินของตนเองโฉนดเลขที่ 40033 สู่ที่ดินโจทก์ โดยให้รั้วเป็นคอนกรีตครึ่งหนึ่งและลวดหนามครึ่งหนึ่งตลอดแนวดังเดิม และไม่ให้รั้วรุกล้ำที่ดินโจทก์ หากไม่ดำเนินการก็ให้โจทก์เข้าดำเนินการแทนโดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันสร้างรั้วกันแนวเขตระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 40028 และที่ดินของจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 40029 ให้มีสภาพเป็นคอนกรีตครึ่งหนึ่งและลวดหนามครึ่งหนึ่งตลอดแนวโดยไม่ให้มีประตูสำหรับผ่านเข้าออกทางด้านที่ดินที่ติดกับที่ดินโจทก์อีก และรั้วที่สร้างขึ้นต้องไม่รุกล้ำที่ดินโจทก์ หากไม่ดำเนินการให้โจทก์เข้าดำเนินการแทน โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแต่ทั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่สามารถจำหน่ายที่ดินได้นับจากวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันฟ้องรวม 3 เดือน เป็นเงิน 120,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดจากต้นเงิน 6,400,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 ของโจทก์ได้ห้ามจำเลยทั้งสามใช้ทางในที่ดินของโจทก์ที่ติดกับรั้วกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งสาม ตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ตลอดแนวอีกต่อไป และห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีก

          จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าถนนกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดจากด้านทิศใต้ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือยาว 120 เมตร หรือตามแผนที่วิวาทที่อยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3539 เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 40029 ของจำเลยที่ 3 และให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการเจตนาของโจทก์และพิพากษาว่าถนนพิพาทกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนวจากทางด้านทิศใต้ขึ้นมากทางด้านทิศเหนือยาว 200 เมตร ตามแผนที่วิวาทที่อยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3539 เป็นทางสาธารณประโยชน์ กับให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3539 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อดำเนินการ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3539 เพื่อดำเนินการดังกล่าวได้

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 และที่ 3
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 3539 เฉพาะส่วนที่อยู่ในกรอบเส้นสีดำ-เขียวประตามแผนที่วิวาท ความยาวจากด้านทิศใต้ไปทางทิศเหนือสุดเขตที่ดินจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 40029 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 40029 ให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์กับให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ด้วย และห้ามจำเลยทั้งสามใช้ทางที่อยู่ในกรอบเส้นสีดำ-สีเขียวปะ ตามแผนที่วิวาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 3 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 มีนายฮ้อ มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาในปี 2500 นายฮ้อแบ่งขายที่ดินแปลงดังกล่าวทางด้านทิศตะวันออกบางส่วนให้แก่นายบุญมาก และตกทอดมายังนายศรีรัตน์ และมีการแบ่งที่ดินออกเป็น 11 แปลงเพื่อขายแก่บุคคลภายนอก ต่อมาจำเลยทั้งสามซื้อที่ดินที่แบ่งแยกโดยจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40033 ในปี 2534 จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40028 ในปี 2539 และจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40029 ในปี 2528 ส่วนที่ดินของนายฮ้อที่เหลือเมื่อนายฮ้อถึงแก่กรรมในปี 2527 จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายบุญรอดเกาะประโทน และบุตรห้าคนซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยโดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2539 โจทก์ขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโดยโจทก์ยังคงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 โดยมีทางพิพาทอยู่ในส่วนที่ดินของโจทก์และอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสามทางทิศตะวันตก คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 มีคำสั่งไม่รับ จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุด คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยที่ 3 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกระหว่างบ้านและที่ดินของจำเลยที่ 3 สู่ทางสาธารณประโยชน์ด้วยเจตนาใช้ทางพิพาทเป็นภาระจำยอมซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3539 ของโจทก์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ที่จำต้องยอมรับกรรมหรือภาระเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสามยทรัพย์เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านนั้น เห็นว่า นอกจากได้ความจากนายมณฑล ซึ่งเป็นบุตรเขยของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ขออนุญาตนางบุญรอดมารดาโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเพื่อขนวัสดุมาสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 3 แล้ว ยังได้ความจากจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามว่าทางพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของนางบุญรอด ขณะที่ซื้อมาได้พูดคุยกับนายมนัสชัยและนางบุญรอดเกี่ยวกับทางพิพาท นางบุญรอดบอกว่าถ้าซื้อที่ดินของนายมนัสชัยก็สามารถใช้ทางพิพาทนี้ได้ ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อครั้งที่จำเลยที่ 3 มาซื้อที่ดินที่ติดทางพิพาทใหม่ๆ ได้มีข้อตกลงกับนางบุญรอดว่า นางบุญรอดยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำรถเข้ามาถมดินได้ และให้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก แต่เดิมในละแวกบ้านที่จำเลยที่ 2 อยู่อาศัยนั้นมีบ้านของจำเลยที่ 3 เพียงบ้านเดียวที่มีโทรศัพท์ใช้นางบุญรอดและคนละแวกนั้นก็จะมาอาศัยใช้โทรศัพท์บ้านของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ใช้น้ำประปาซึ่งต่อมาจากท่อของสุขาภิบาลด้านทิศตะวันออกของบ้าน และนางบุญรอดก็เคยต่อท่อน้ำประปาจากบ้านของจำเลยที่ 3 ไปใช้อยู่ระยะหนึ่ง ทั้งยังได้ความจากนายธนิต พยานจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 3 เคยเล่าให้ฟังว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินแปลงเก่าจากหลานของเจ้าของที่ดินพิพาทแล้วใช้ทางเข้าออกได้ หากผู้ขายไม่ยกทางพิพาทให้เป็นทางเข้าออกก็เหมือนกับที่ตาบอดจำเลยที่ 3 จึงซื้อที่ดิน พยานจำเลยทั้งสามดังกล่าวมาเจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 คุ้นเคยกับนางบุญรอดในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันการที่จำเลยที่ 3 และบริวารใช้ทางพิพาทเป็นการได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้วส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าพังรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 และใช้ทางพิพาทเรื่อยมาตลอดจนนำที่ดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทมาตลอดทุกปีโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับนางบุญรอดหรือโจทก์แล้วนั้น เห็นว่าการพังรั้วของจำเลยที่ 3 ก็เพื่อความสะดวกในการขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 ส่วนการนำดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทก็เพื่อความสะดวกในการใช้ทางพิพาทของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าเป็นการถือวิสาสะของจำเลยที่ 3 เท่านั้น หาใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับนางบุญรอดหรือโจทก์แต่อย่างใดไม่ เช่นนี้แม้จำเลยที่ 3 จะใช้ทางพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 3 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - วีระชาติ เอี่ยมประไพ - มนูพงศ์ รุจิกัณหะ )
 
 


รับซื้อฝากที่ดินโดยไม่สุจริต- เพิกถอนนิติกรรม

สามีภริยาได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส การที่ภริยาทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับซื้อฝาก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามีซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อผู้รับซื้อฝากรับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต สามีจึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างภริยา กับผู้รับซื้อฝากได้ทั้งหมด

สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ | สัญญาระหว่างสมรส

เมื่อคู่สมรสตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่ในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าสามียกที่ดิน 1 แปลงให้ภริยา บันทึกครั้งหลังมิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันหรือสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งคู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน 

ขณะสู่ขอไม่มีการตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส

แจ้งความว่าหญิงคู่หมั้นหลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย จัดงานแต่งใหญ่โต คู่หมั้นมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว การเลิกราเป็นที่อับอายแก่หญิงมากกว่า เวลาไปสู่ขอก็ไม่ได้ตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนสมรสกันเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของหญิงคู่หมั้น เพราะคู่หมั้นไม่ได้ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาเท่านั้น ชายจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนได้
 

 

 




ครอบครองปรปักษ์/ภาระจำยอม/ทางจำเป็น

ทำการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์
ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิด
"ทางจำเป็น" จำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น
ทำที่จอดรถในทางภาระจำยอม
นำที่ดินตกเป็นภาระจำยอมแล้วขายทอดตลาด
สาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตกอยู่ในภาระจำยอม
อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป
การครอบครองปรปักษ์สิ้นสุดเมื่อโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่?
เจ้าของใหม่รับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน
สาธารณูปโภคที่ดินแบ่งขายเป็นภาระจำยอม
ให้ใช้ทางเอื้ออารีเป็นการถือวิสาสะคุ้นเคยกัน
ภาระจำยอมหมดประโยชน์หรือไม่?
ใช้ทาง 50 ปีก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอม
คนต่างด้าวครอบครองปรปักษ์ห้องชุด
โจทก์ไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็น