ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




นำที่ดินตกเป็นภาระจำยอมแล้วขายทอดตลาด

ทนายความบริษัทสำนักงานพีศิริ ทนายความ จำกัด  

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายโทร.  085-9604258 (ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางemail:  leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

 

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

นำที่ดินตกเป็นภาระจำยอมแล้วขายทอดตลาด

โจทก์ซื้อที่ดินสองแปลงจากการขายทอดตลาดตรวจสอบพบว่าเดิมผู้จัดสรรที่ดินสร้างตึกแถวมีการก่อสร้างหลังคาโครงเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแปลงด้านหน้าและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำบนที่ดินทางด้านหลังตึกแถวจึงฟ้องขับไล่ให้รือถอน ศาลฎีกาเห็นว่าเดิมเจ้าของโครงการมีเจตนาแบ่งแยกที่ดินพิพาทไว้เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการขายตึกแถว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์แม้ซื้อมาจากการขายทอดตลาดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงแล้ว แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการซื้อจากการขายทอดตลาดก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1239/2552
 
          ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์และที่ดินที่ใช้ปลูกสร้างตึกแถว 26 คูหาต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในโครงการหมู่บ้านจัดสรรซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกัน โดยเขตที่ดินแปลงแรกด้านทิศใต้ติดทางหลวงและทิศเหนือติดด้านหน้าตึกแถวทั้ง 26 คูหาตลอดแนว เขตที่ดินแปลงที่สองติดด้านหลังตึกแถวทั้ง 26 คูหา ตลอดแนวเช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรได้สร้างตึกแถวโดยทำกันสาดด้านหน้าตึกแถวล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทด้านหน้าตึกแถว 1.5 เมตรและล้ำไปในที่ดินพิพาทด้านหลังตึกแถว 1 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าหากเจ้าของโครงการมิได้เว้นว่างที่ดินพิพาทด้านหน้าตึกแถวไว้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวก็จะทำให้ไม่มีทางเข้าออกด้านหน้าตึกแถว ส่วนที่ดินพิพาทด้านหลังส่วนที่พ้นกันสาดก็มีเพียง 1 เมตร ซึ่งไม่น่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แสดงว่าเจ้าของโครงการได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทไว้เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการขายตึกแถวในโครงการนั้นเอง ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์จึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงในโครงการซึ่งรวมถึงที่ดินที่ตั้งตึกแถวของจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนการที่เจ้าของโครงการต้องเว้นระยะด้านหน้าตึกแถวให้ห่างจากทางหลวงประมาณ 6 เมตร ตามระเบียบทางหลวงนั้นเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างหาเกี่ยวข้องหรือมีผลให้ที่ดินพิพาทไม่ตกเป็นภาระจำยอมแต่อย่างใดไม่ เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นภาระจำยอม โดยผลของกฎหมาย แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการซื้อจากการขายทอดตลาดก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ได้
 

มาตรา 1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา 1390  ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
 
           โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24243 และ 24215 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 202/24 จำเลยทั้งสองก่อสร้างหลังคากระเบื้องลอนคู่โครงเหล็ก ขนาดประมาณกว้าง 4 เมตร ยาว 5 เมตร เสาเหล็ก พื้นคอนกรีตด้านหน้าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 24243 และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 24215 ของโจทก์ โจทก์แจ้งให้รื้อถอนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์โดยรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ หากไม่รื้อถอนขอให้โจทก์รื้อถอนแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า ซื้ออาคารพาณิชย์เลขที่ 202/24 ต่อจากผู้อื่น ที่ดินด้านหน้าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเจ้าของเดิมได้ปรับปรุงยกระดับเทพื้นคอนกรีต สร้างหลังคาและใช้ประโยชน์เข้าออกถนนสายสำโรง - บางพลี ส่วนด้านหลังก็ใช้ประโยชน์เทพื้นคอนกรีต สร้างหลังคาจนเต็มพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2522 และจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยอย่างเป็นเจ้าของต่อมานับถึงปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 10 ปี จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้านหน้าและด้านหลังอาคารพาณิชย์ดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว โจทก์ทราบถึงการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น การซื้อที่ดินของโจทก์จึงไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนหลังคาโครงเหล็กด้านหน้า และหลังคาโครงเหล็กพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ เว้นแต่ในส่วนกันสาดปูนชั้นบนซึ่งติดมากับตัวอาคารพาณิชย์ หากจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยที่ 1 เสียค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24243 และ 24215 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยการซื้อมาจากขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24234 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้น ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินที่ดินโฉนดเลขที่ 24243 ของโจทก์อยู่ด้านหน้าตึกแถวของจำเลยที่ 1  ทิศใต้ของที่ดินดังกล่าวติดทางหลวงแผ่นดินสายสำโรง - บางพลี - บางบ่อ ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 24215 ของโจทก์อยู่ด้านหลังตึกแถวของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่วิวาท เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์และที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินโครงการจัดสรรหมู่บ้านบางพลีนครของบริษัท ป. พายัพพิริยะกิจ จำกัด ซึ่งก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 26 คูหา เมื่อปี 2522 นายประทุม ซื้อที่ดินและตึกแถวของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาจากบริษัท ป. พายัพพิริยะกิจ จำกัด หลังจากนั้นนายประทุมก่อสร้างกันสาดและหลังคาโครงเหล็กด้านหน้าตึกแถวยื่นออกมาจากตัวอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ส่วนด้านหลังได้ก่อสร้างกันสาด ก่ออิฐกั้นห้องล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตามภาพถ่ายและแผนที่วิวาท ต่อมาปี 2533 จำเลยที่ 1 ซื้ออาคารพาณิชย์ตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวจากนายประทุมและครอบครองการทำประโยชน์ต่อเนื่องจากนายประทุมตลอดมา โจทก์ได้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเมื่อปี 2543 จากนั้นโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินในส่วนที่จำเลยที่ 1 รุกล้ำของโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่า เจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินมิได้สละการครอบครองหรือมีเจตนาที่จะยกที่ดินพิพาทให้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวจัดสรรทั้งหมดแต่อย่างใด เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์และที่ดินปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในโครงการหมู่บ้านบางพลีนครซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกัน เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงแล้ว ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 24243 มีเนื้อที่ 205 ตารางวา ด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาวด้านละ 107 เมตรเศษ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาวเพียงด้านละ 7 เมตรเศษ เขตที่ดินด้านทิศเหนืออยู่ติดกับด้านหน้าตึกแถวจัดสรรทั้ง 26 คูหา ทิศใต้ติดเขตทางหลวงแผ่นดินสายสำโรง - บางพลี - บางบ่อและที่ดินพิพาทของโจทก์โฉนดเลขที่ 24215 มีเนื้อที่เพียง 56 ตารางวา ด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาวด้านละ 108 เมตรเศษ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาวเพียงด้านละ 2 เมตร ที่ดินด้านทิศใต้อยู่ติดด้านหลังกับตึกแถวทั้ง 26 คูหาตลอดแนวเช่นเดียวกันตามแผนที่วิวาททั้งในการก่อสร้างตึกแถว เจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินกันสาดได้ทำกันสาดยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทด้านหน้าตึกแถวลึก 1.5 เมตร และทำกันสาดยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทด้านหลังตึกแถวอีก 1 เมตร โดยเฉพาะที่ดินพิพาทด้านหน้าตึกแถวนั้น หากมิได้เว้นว่างไว้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวก็จะทำให้ไม่มีทางเข้าออกด้านหน้าตึกแถวได้ ส่วนที่ดินด้านหลังตึกแถวก็เหลือเนื้อที่ส่วนที่พ้นกันสาดเพียง 1 เมตร ซึ่งไม่น่าจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 มีนายไพโรจน์ และนายฉะโอด เป็นพยานเบิกความต้องกันว่า นายไพโรจน์เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการที่ตั้งที่ดินพิพาทคดีนี้ ส่วนนายฉะโอดเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและเคยเป็นกำนันหมู่ที่ 20 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับหมู่ 11 ดังกล่าว พยานทั้งสองเคยเห็นที่ดินและอาคารตึกแถวพิพาททั้ง 26 คูหา ซึ่งรวมถึงอาคารตึกแถวของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ตึกแถวพาณิชย์ทั้ง 26 คูหา ดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อปี 2522 เป็นตึกแถวในส่วนหนึ่งในโครงการบางพลีนคร พยานทั้งสองเห็นว่าผู้ซื้อตึกแถวได้ทำการเทปูนซีเมนต์ทำพื้นด้านหน้าตึกแถวจนถึงเขตถนนสาธารณะแล้วใช้ทำประโยชน์วางสิ่งของ ค้าขาย ใช้จอดรถ เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะส่วนด้านหลังตึกแถวนั้นผู้ซื้อก็ได้ต่อเติมเป็นครัวบ้าง วางสิ่งของบ้าง ไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการครอบครองที่ดินด้านหน้าและด้านหลังของเจ้าของตึกแถวแต่ละรายมาก่อนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมีนายสนิท เป็นพยานเบิกความว่าพยานทำงานที่แขวงการทางสมุทรปราการ ตำแหน่งหมวดการทาง มีหน้าที่ดูแลถนนเทพารักษ์ หรือถนนหมายเลข 3268 ระหว่างกิโลเมตรที่ 4 ถึงกิโลเมตรที่ 22 หมู่บ้านบางพลีนครมีอาคารพาณิชย์ปลูกสร้างอยู่ริมถนนทั้งสองฝ่าย อาคารพาณิชย์ดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อปี 2520 การก่อสร้างต้องขออนุญาตเชื่อมทางจากกรมทางหลวงกรมทางหลวงจะกำหนดระยะถอยร่นจากแนวทางหลวงถึงหน้าอาคารพาณิชย์ประมาณ 6 เมตร ซึ่งเป็นระเบียบของกรมทางหลวง อาคารพาณิชย์ตึกแถวของหมู่บ้านบางพลีนครที่พิพาทก็ได้ก่อสร้างถอยร่นจากทางหลวงตามระยะทางที่ได้รับอนุญาต ระยะถอยร่นมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและเจ้าของอาคารพาณิชย์ใช้ร่วมกันเป็นทางออกที่ดินดังกล่าวถือเป็นที่ดินสาธารณะ แต่เอกสารสิทธิยังเป็นชื่อเจ้าของโครงการ ส่วนโจทก์อ้างตนเป็นพยานเบิกความได้ความเพียงว่า ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากการขายทอดตลาด โจทก์เคยเห็นสภาพที่ดินและตึกแถวพิพาททั้ง 26 คูหา รวมถึงตึกแถวของจำเลยที่ 1 แล้ว สภาพการรุกล้ำก่อนที่โจทก์จะซื้อเป็นสภาพเช่นเดียวกับปัจจุบัน การสร้างตึกแถวทั้ง 26 คูหาดังกล่าวจะมีการเว้นที่ดินด้านหน้าและด้านหลังตึกแถวซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ไว้เพราะเหตุใดไม่ทราบ จากลักษณะที่ดินพิพาทและพยานโจทก์พยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และที่ดินปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในโครงการหมู่บ้านบางพลีนครซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกัน ที่ดินพิพาทด้านหน้าตึกแถวนั้นหากมิได้เว้นว่างไว้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถว ก็จะทำให้ไม่มีทางเข้าออกด้านหน้าตึกแถวได้ ส่วนที่ดินพิพาทด้านหลังตึกแถวก็เหลือเนื้อที่ส่วนที่พ้นกันสาดเพียง 1 เมตร ซึ่งไม่น่าจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ประกอบกับเมื่อผู้ซื้อตึกแถวจากเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินแล้วต่างก็ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงในลักษณะเช่นเดียวกันทุกราย จึงเห็นได้ว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อกันไว้เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการขายตึกแถวในโครงการนั่นเอง ดังนี้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์จึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลง รวมถึงที่ดินที่เป็นที่ตั้งของตึกแถวของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 และ 30 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ส่วนการที่เจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้เว้นระยะห่างระหว่างด้านหน้าตึกแถวกับเขตทางหลวงของสายสำโรง - บางพลี ไว้ประมาณ 6 เมตร ตามระเบียบของกรมทางหลวงก็เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาได้เกี่ยวข้องหรือมีผลทำให้ที่ดินพิพาทไม่ตกเป็นภาระจำยอมแต่อย่างใดไม่ เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นภาระยอมโดยผลของกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยซื้อจากการขายทอดตลาดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมในที่ดินพิพาทนั้นสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้

          ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ข้อนี้โจทก์เบิกความลอย ๆ ปากเดียวว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในแหล่งชุมชนและย่านการค้า จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 บัญญัติว่าท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ดังนั้น โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์จากการที่มิได้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - ศุภชัย สมเจริญ - สนอง เล่าศรีวรกต )
 
 


ขณะสู่ขอไม่มีการตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส

แจ้งความว่าหญิงคู่หมั้นหลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย จัดงานแต่งใหญ่โต คู่หมั้นมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว การเลิกราเป็นที่อับอายแก่หญิงมากกว่า เวลาไปสู่ขอก็ไม่ได้ตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนสมรสกันเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของหญิงคู่หมั้น เพราะคู่หมั้นไม่ได้ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาเท่านั้น ชายจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนได้ 

ใช้ทางอย่างเป็นปรปักษ์กับใช้ทางเป็นการวิสาสะ

การใช้ทางแบบคุ้นเคยกันในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพื่งพาอาศัยกันและเป็นการได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้วแม้จะได้นำดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทตลอดมาทุกปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากใครก็ตาม ก็เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกของผู้ใช้ทางเท่านั้น พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะในการใช้ทางไม่ใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางอย่างเป็นปรปักษ์ แม้จะได้ใช้ทางมานานเกิน 10 ปี ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของตนได้ 

ภาระจำยอมที่เกิดจากการจัดสรรที่ดินขาย

เจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินได้กันทางเดินพิพาทไว้เป็นทางเข้าออกสำหรับตึกแถวที่แบ่งขายในการก่อสร้างตึกแถวเจ้าของโครงการได้ก่อสร้างตึกแถวทำกันสาดปูนซิเมนต์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินแปลงที่เป็นทางเดินยื่นออกไป 1.5 เมตรต่อมาเจ้าของโครงการถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย โจทก์ในคดีนี้ซื้อที่ดินทางเดินจากการขายทอดตลาดและฟ้องขับไล่ผู้ซื้อตึกแถวศาลฎีกาเห็นว่าทางเดินตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรโดยผลของกฎหมายแล้วรวมถึงกันสาดที่ยื่นออกไปด้วย

การครอบครองปรปักษ์ขาดตอนเมื่อเปลี่ยนเจ้าของ

การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ถือเอาระยะเวลาครอบครองของฝ่ายผู้ครอบครองที่ต้องครอบครองติดต่อกัน ไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นหรือไม่ และไม่จำต้องถือเอาทางฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แต่ละคนที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นเกณฑ์ในการเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าของหากบุคคลภายนอกรับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต 

เจ้าของที่ดินมีสิทธิสร้างแผงร้านค้าบนทางภาระจำยอมหรือไม่?

สภาพของที่ดินภาระจำยอมใช้เป็นเพียงทางเดินเท่านั้น รถยนต์ไม่สามารถเข้าออกได้เพราะมีขั้นบันไดลงไปสู่ถนนสาธารณะ การที่เจ้าของที่ดินสร้างแผงร้านค้าโดยเว้นทางเท้าไว้ถึง 2.50 เมตร จึงไม่ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหรือไม่? ศาลเห็นว่าทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของผู้อื่นนั้นเป็นทางที่ใช้สัญจรอยู่ในโครงการหมู่บ้านและที่ดินจัดสรร ดังนั้น ไม่ว่ารถยนต์จะสามารถเข้าออกทางได้หรือไม่ก็ตาม
 

 

 




ครอบครองปรปักษ์/ภาระจำยอม/ทางจำเป็น

ทำการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์
ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิด
"ทางจำเป็น" จำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น
ทำที่จอดรถในทางภาระจำยอม
สาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตกอยู่ในภาระจำยอม
อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป
การครอบครองปรปักษ์สิ้นสุดเมื่อโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่?
เจ้าของใหม่รับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน
สาธารณูปโภคที่ดินแบ่งขายเป็นภาระจำยอม
พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะในการใช้ทาง
ให้ใช้ทางเอื้ออารีเป็นการถือวิสาสะคุ้นเคยกัน
ภาระจำยอมหมดประโยชน์หรือไม่?
ใช้ทาง 50 ปีก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอม
คนต่างด้าวครอบครองปรปักษ์ห้องชุด
โจทก์ไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็น