
แยกกันอยู่โดยสมัครใจหรือจงใจละทิ้งร้าง?
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line : (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont แยกกันอยู่โดยสมัครใจหรือจงใจละทิ้งร้าง? สามีภริยาอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกโดยมิใช่เกิดจากไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไป - การที่สามีไปกรุงเทพมหานครเพื่อทำการค้าขายจึงเป็นเพียงเพื่อไปทำมาหากินเท่านั้นถือไม่ได้ว่าสามีจงใจละทิ้งร้างหรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2545 เหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกันและอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเดียวกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไปได้แต่เป็นเพราะโจทก์โกรธจำเลยเพราะเข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับมารดาโจทก์ฉ้อโกงเอาบ้านและที่นาของโจทก์ไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนหน้าเกิดเหตุโจทก์และจำเลยแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจอยู่กินในลักษณะดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยพาบุตรคนโตไปกรุงเทพมหานครเพื่อค้าขายเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการแยกตัวไปทำมาหากินเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)(6) โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน เมื่อปี 2537 ขณะโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 947/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โจทก์และจำเลยทะเลาะกันเกี่ยวกับจำเลยลอบนำสินส่วนตัวของโจทก์ไปจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลภายนอก โจทก์จึงขอแยกกันอยู่กับจำเลยโดยยังพักอยู่บ้านเดียวกันเพราะเห็นแก่บุตรทั้งสอง ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2540 จำเลยหนีออกจากบ้านโดยไม่ติดต่อกลับมาหาโจทก์ ไม่ส่งเสียให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดต้องได้รับความเดือดร้อน เมื่อเอาสภาพและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบทั้งเป็นการทิ้งร้างโจทก์เกินกว่า 1 ปี จำเลยไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จึงไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตรขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้ถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยโต้แย้งกับโจทก์เพราะจำเลยไม่ยอมช่วยโจทก์จัดการโอนที่ดินที่ตั้งร้านค้าที่โจทก์โอนให้บุตรทั้งสองของโจทก์จำเลยกลับมาเป็นของโจทก์อีก จำเลยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 100,000 บาทเพื่อให้โจทก์ทำทุนค้าขาย แต่โจทก์หาทางขจัดจำเลยโดยส่งจำเลยไปค้าขายที่อื่น จำเลยต้องประกอบอาชีพตามความประสงค์ของโจทก์โดยนำบุตรคนโตไปอยู่ด้วย ทำให้โจทก์ไม่พอใจทำร้ายบุตรคนโต จำเลยจึงต้องอุปการะเลี้ยงดูเสียเอง นอกจากนี้จำเลยส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรของคนที่สองตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย โดยให้โจทก์ผู้เดียวเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ นายไพฑูรย์ ศรีรุณ อายุ 18 ปี และเด็กชายคณิต ศรีรุณ อายุ 15 ปี พักอาศัยรวมกันที่บ้านเลขที่ 947/1หมู่ที่ 1 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2540 จำเลยนำนายไพฑูรย์ออกจากบ้านดังกล่าวไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี และไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ ในข้อที่ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หรือไม่นั้นพยานโจทก์มีตัวโจทก์และเด็กชายคณิตเบิกความทำนองเดียวกันว่าตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นไปโจทก์กับจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันมาตลอดทั้งนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์เข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับนางจำลอง ดาราวงศ์หรือแปรสนม มารดาโจทก์ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 947และที่นา 5 แปลงของโจทก์แล้วโอนขายไปโดยจำเลยลงชื่อเป็นพยานในหลักฐานดังกล่าว โจทก์กับจำเลยแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็ต่างคนต่างอยู่ไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำเลยก็ไม่เคยช่วยเหลือโดยต่างคนต่างทำมาหากินซึ่งเป็นเช่นนี้จนถึงเดือนมีนาคม 2540จำเลยก็ออกจากบ้านไปโดยนำนายไพฑูรย์บุตรคนโตไปด้วยบอกว่าจะไปอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ตัวโจทก์กลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ปัญหาที่โจทก์ขอหย่ากับจำเลยครั้งนี้ เนื่องจากจำเลยไปร่วมมือกับมารดาโจทก์ในการโอนที่ดินของโจทก์และจำเลยไม่ให้ความกระจ่างแก่โจทก์ ก่อนจำเลยจะไปกรุงเทพมหานคร จำเลยก็ค้าขายอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวตามปกติ หลังจากจำเลยออกจากบ้านในปี 2540 แล้วก็กลับมาอีก 2 ครั้ง และเด็กชายคณิตเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าปัจจุบันจำเลยไปค้าขายเสื้อผ้าที่กรุงเทพมหานครและพี่ชายของพยานได้ช่วยขายด้วย พยานยังรักใคร่และผูกพันกับจำเลยเช่นเดิม ตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าการที่โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันและอยู่ด้วยกันที่บ้านเดียวกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไปได้แต่เป็นเพราะโจทก์โกรธเคืองจำเลยเพราะเข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับนางจำลองมารดาโจทก์ฉ้อโกงเอาบ้านและที่นาของโจทก์ไป ได้ความว่าขณะที่จำเลยยังอยู่ที่บ้านเลขที่ 947/1 ร่วมกับโจทก์และบุตรทั้งสองคนจำเลยก็ค้าขายอยู่ที่บ้านดังกล่าว เพียงแต่ต่างคนต่างอยู่เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจที่อยู่กินในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น การที่จำเลยพาบุตรคนโตไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อค้าขายเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการแยกตัวไปเพื่อทำมาหากินเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปหรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)(6)..." พิพากษายืน ( ดวงมาลย์ ศิลปอาชา - อำนวย เต้พันธ์ - ประเสริฐ เขียนนิลศิริ ) การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคหนึ่งบัญญัติให้สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในลักษณะที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ศาลต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ทางด้านสังคม การงานฐานะทางเศรษฐกิจ สภาพร่างกายและจิตใจของสามีภริยา ฯลฯ มาเป็นสิ่งประกอบการพิจารณา จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสภาพของการอยู่กินฉันสามีภริยาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจะต้องมีลักษณะเป็นเช่นเดียวกันกับครอบครัวอื่น สาระสำคัญของบทบัญญัติในข้อนี้ จึงมีพื้นฐานอยู่ที่ความซื่อสัตย์ระหว่างกัน และการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข แต่หาใช่จำต้องสงบสุขตลอดเวลาไม่ เพราะอาจมีเหตุแทรกแซงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง ก็ไม่เพียงพอให้ถือเป็นเหตุหย่า (คำพิพากษาฎีกาที่ 677/2506)ทางเลี่ยงจึงอาจมีการทำทัณฑ์บนเกี่ยวกับความประพฤติระหว่างกันก็ได้(มาตรา 1516(8)) ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยอยู่บ้านเดียวกัน แต่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ เพราะมีเรื่องบาดหมางกันเกี่ยวกับมารดาของโจทก์นำที่ดินและบ้านของโจทก์ไปโอนขายแก่บุคคลอื่นโดยจำเลยลงชื่อเป็นพยานในหลักฐานดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับมารดาโจทก์ฉ้อโกงโจทก์ มูลเหตุดังกล่าวมิใช่เรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ในฐานะที่จำเลยเป็นสามีของโจทก์ หากแต่มีเหตุแทรกแซงจากภายนอกเกิดขึ้นในครอบครัวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไป นอกจากนี้การที่โจทก์และจำเลยมีสภาพต่างคนต่างอยู่ก็เกิดขึ้นจากความสมัครใจอันอาจเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เพราะหากประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรก็น่าจะมีการตกลงแยกกันอยู่โดยเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติ ซึ่งจะเป็นเหตุหย่าต่อไปได้ตามมาตรา 1516(4/2) แต่แม้จะไม่มีข้อตกลงโดยแน่ชัดตามพฤติการณ์ที่แยกกันอยู่โดยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายก็ต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขหรือไม่ และเป็นเวลาเกินสามปีหรือไม่ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2540)แต่ในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องหย่าด้วยเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาจำเลยพาบุตรคนโตไปประกอบการค้าที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นการแยกกันอยู่กับโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องแยกไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว กรณีนี้จึงเห็นได้ว่าการแยกกันอยู่เกิดจากสภาพภายนอกบังคับและมีเหตุอันสมควรมิใช่จำเลยมีเจตนา "จงใจ" ทิ้งร้าง คือมีเจตนาไม่ให้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันต่อไป ซึ่งมีแนวคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับวินิจฉัยว่าไม่เป็นเหตุหย่า (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 780/2502,1830/2522,2143/2522,2922/2526,7229/2537) นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าจำเลยได้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนเล็กที่อยู่กับโจทก์โดยส่งเงินมาให้ตลอดเวลา กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาอาจเห็นว่าเป็นการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในทางอ้อมจึงมิใช่การไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามมาตรา 1461 วรรคสองอันจะถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516(6) ชาติชาย อัครวิบูลย์
ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องเนื่องจากผู้ร้องได้ไปติดต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา (ขอวีซ่า) ให้กับบุตรผู้เยาว์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ร้องจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล หรือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวเสียก่อน ผู้ร้องจึงจะสามารถพาบุตรผู้เยาว์ เดินทางออกนอกประเทศไทย และสามารถดำเนินการผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องมาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลนี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวของเด็กหญิง เอ บุตรผู้เยาว์ เสียก่อนจึงจะดำเนินการให้ได้
ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง
|