ReadyPlanet.com
dot
รวมกฎหมายและฎีกา
dot
bulletกฎหมายทั่วไป
bulletคดีครอบครัว
bulletคำพิพากษาคดีอาญา
bulletที่ตั้งสำนักงาน
bulletซื้อขายเช่าซื้อขายฝาก
bulletครอบครองปรปรปักษ์
bulletผู้จัดการมรดก
bulletกฎหมายแรงงาน
bulletทรัพย์สินกรรมนสิทธิ์
bulletหลักฐานการกู้ยืมเงิน
bulletสัญญาตัวแทน
bulletซื้อขายที่ดิน
bulletสัญญาเช่า
bulletลาภมิควรได้
bulletผู้คำประกัน
bulletคดีล้มละลาย
bulletพ.ร.บ. ทนายความ




การหย่าโดยความยินยอม

ทนายความโทร0859604258

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ปรึกษากฎหมาย ทนายความ นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258

-ติดต่อทางอีเมล  : leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3)  @peesirilaw  หรือ (4) peesirilaw   (5)   leenont         

 

 บันทึกเป็นหนังสือว่ามีความประสงค์จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

การหย่าโดยความยินยอมนั้น สามีภริยาอาจทำบันทึกเป็นหนังสือว่ามีความประสงค์จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยจะไปจดทะเบีนนหย่า ต่อนายทะเบียนกันต่อไป ซึ่งอาจมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขในการจดทะเบียนหย่าก็ได้ กรณีมีเงื่อนไขกำหนดไว้ การจะจดทะเบียนหย่าได้ก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขนั้นก่อน ตราบใดที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ ฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจที่จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งจดทะเบียนหย่าได้ นอกจากนี้ยังอาจตกลงบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สิน การใช้อำนาจปกครองบุตรและการออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวสามีและภริยาต้องลงลายมือชื่อ และมีพยานบุคคลไม่น้อยกว่าสองคนลงลายมื่อไว้เป็นหลักฐานในขณะนั้น จึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้บันทึกกันไว้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว จนกว่าจะได้ไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล
 การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

 มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

 มาตรา 1531 การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป
 การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว 

การหย่ากันเพราะคู่สมรสฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) และคู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าร้างกันเองแล้วไปจดทะเบียนหย่ากันด้วยความสมัครใจ แต่มิได้ตกลงจ่ายเงินค่าทดแทนกันและมิได้มีการฟ้องร้องกันแต่อย่างใด ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากคู่สมรสฝ่ายที่อุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ในภายหลังได้

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ถ้าสามีภริยามีหนี้สินจำนวนมาก หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประกอบธุรกิจ แต่เพื่อป้องกันหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นมิให้กระทบต่อทรัพย์สินของคู่สมรส จึงยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปไว้ที่คู่นสมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ประกอบธุรกิจ ดังนั้น จึงสมรู้ร่วมคิดกันจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยกันทั้งที่ยังอยู่ด้วยกัน ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต จึงไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคบลภายนอก โดยยังถือว่าทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของคู่สมรสฝ่ายที่ประกอบธุรกิจมีสิทธนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสินสมรสออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวได้และไม่อาจร้องขอกันส่วนของตนกึ่งหนึ่งได้ ทั้งนี้เพราะเป็นหนี้ร่วมที่ทั้งสามีและภริยาต้องร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2524

หนังสือข้อตกลงหย่าและการจดทะเบียนหย่า ผู้ร้องกับจำเลยแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างกันกระทำขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการกระทำขึ้นโดยสมยอมจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจึงเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันผู้ร้องไม่มีอำนาจมาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภรรยากัน แต่ปรากฏว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงทำหนังสือหย่าโดยความยินยอมกันไว้ ซึ่งผู้ร้องกับจำเลยตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งสินสมรสกันโดยฝ่ายจำเลยขอรับเงินสดเจ็ดแสนบาทซึ่งได้รับไปแล้วในวันทำสัญญา ส่วนทรัพย์สินอื่นทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องและจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากัน การทำหนังสือข้อตกลงหย่าและการจดทะเบียนหย่าเกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ หลังจากนั้นผู้ร้องกับจำเลยก็ยังอยู่กินร่วมบ้านกันที่บ้านผู้ร้องฉันสามีภรรยาและทำมาหากินร่วมกันตามปกติธรรมดาเสมือนหนึ่งมิได้มีการหย่าขาดจากกันตลอดมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2518 จำเลยจึงได้หลบหนี้สินไปจากบ้านผู้ร้อง ดังนี้ เชื่อไม่ได้ว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงหย่าและทำการแบ่งสินสมรสกันเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเป็นเช่นนี้การที่ผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันตามเอกสารหมาย จ.7 โดยทั้งสองฝ่ายได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบันทึกไว้ด้านหลังทะเบียนหย่าว่าได้ตกลงกันในเรื่องทรัพย์สินที่มีมาก่อนจดทะเบียนหย่าเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงฝ่าฝืนความจริง กรณีถือได้ว่าการที่ผู้ร้องกับจำเลยตกลงทำหนังสือข้อตกลงหย่าและจดทะเบียนหย่ากันเป็นการที่ผู้ร้องกับจำเลยแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างกันกระทำขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการกระทำขึ้นโดยสมยอม จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจึงเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยจากการยึด

พิพากษายืน 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2525

โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่ร่วมเรือนเดียวกันและร่วมกันสร้างเรือนพิพาทอยู่ด้วยกันอีก 1 หลัง ปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนาขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภรรยา ต่างฝ่ายไม่มีคู่ครองใหม่พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าการจดทะเบียนหย่าก็โดยเจตนาไม่ประสงค์จะให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยว่า เมื่อ พ.ศ. 2506 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 3 คน โจทก์จำเลยมีสินบริคณห์เป็นที่ดินนา 2 แปลง ที่ดินสวนยางพารา 2 แปลง และที่ดินปลูกเรือน 1 แปลง พร้อมด้วยเรือน 1 หลัง อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และที่ดินสวนยางเนื้อที่ 30 ไร่อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ครั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2515โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ณ ที่ว่าการอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และตกลงบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตรไว้ด้านหลังทะเบียนการหย่าว่า ให้โจทก์เป็นผู้อุปการะบุตรทั้งสาม ทรัพย์สินได้มาระหว่างสมรสคือที่ดิน 5 แปลง และเรือน 1 หลังอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลสิเกา จังหวัดตรัง ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรทั้งสามระหว่างบุตรทั้งสามยังไม่บรรลุนิติภาวะให้จำเลยเป็นผู้ปกครองใช้ประโยชน์ได้ทุกประการ ส่วนที่ดินสวนยางอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรังให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เดียวตามทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1ที่ดินแปลงนี้เองที่ซื้อจากนางประคอง สุริดัง แต่ไม่ยอมโอนให้ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้โอน ต่อมาโจทก์จำเลยได้ร่วมกันสร้างเรือนเลขที่ 80 ในที่ดินอยู่หมู่ที่ 2ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โจทก์จำเลยและบุตรอยู่ในเรือนดังกล่าวนี้ตลอดมาซึ่งทะเบียนบ้านเลขที่ 80 ก็ระบุชื่อคนอยู่อาศัยเช่นนั้น ตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 80 เอกสารหมาย ล.5 โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อสร้างที่ดินดังกล่าวทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลาและปลูกต้นผลอาสิน อนึ่งไม่ปรากฏว่าก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าได้ทะเลาะกัน แม้แต่ทะเลาะกับญาติพี่น้องก็ไม่มี โจทก์นำสืบอ้างว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายสมบูรณ์ตามกฎหมาย การปลูกเรือนเลขที่ 80 และก่อสร้างที่ดินทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินในที่พิพาทด้วยพูนทรัพย์ของโจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยสืบโต้แย้งว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเพื่อลวงบุคคลอื่นเป็นโมฆะ จำเลยออกทุนร่วมก่อสร้างเรือนเลขที่ 80 ก่อสร้างที่ดินทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินในที่พิพาทกับโจทก์ด้วย

พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ได้ความจากคำของโจทก์ว่าโจทก์กับจำเลยได้ไปแจ้งให้นายหมี ศรีจันทร์ทอง กำนันท้องที่ทราบถึงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินตลอดการปกครองบุตร แล้วพากันไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอสิเกาจังหวัดตรัง ด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายโดยนายโกวิท สุวรรณพะโยม ปลัดอำเภอ และนางฤดี ชูสุวรรณ นายทะเบียน ต่างลงชื่อเป็นพยานและนายทะเบียนตามลำดับ ในทะเบียนการหย่าตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อหย่ากันแล้วจำเลยไป ๆ มา ๆ ที่เรือนเลขที่ 80 ที่โจทก์ปลูกขึ้นเอง ครั้น พ.ศ. 2521 จำเลยได้เข้ามาอยู่อาศัยในเรือนเลขที่ 80 ประจำ โจทก์จึงได้ออกจากเรือนนั้นไป โจทก์มีนายหมี ศรีจันทร์ทอง นายโกวิท สุวรรณพะโยม และนางฤดี ชูสุวรรณ เป็นพยานเบิกความว่าได้ไกล่เกลี่ยไม่ให้โจทก์กับจำเลยหย่ากัน แต่ไม่เป็นผล เห็นว่านายหมีและนายโกวิทกับนางฤดีพยานโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยทราบมาจากโจทก์จำเลยว่าจะหย่ากันหากโจทก์จำเลยแสดงเจตนาลวงในการหย่าด้วยสมรู้กันตามที่จำเลยนำสืบแล้วการที่พยานโจทก์ทั้งสามพยายามไกล่เกลี่ยไม่ให้โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมเห็นได้ชัดว่า การไกล่เกลี่ยนั้นไม่เป็นผล ฉะนั้นคำพยานโจทก์ทั้งสามไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีขึ้นแต่ประการใดถ้าพิจารณาตามคำเบิกความของนายหมี ศรีจันทร์ทอง พยานโจทก์ตอนตอบทนายจำเลยที่ว่า หลังจากโจทก์จำเลยหย่ากันแล้ว โจทก์ จำเลยกลับอยู่กินร่วมเรือนหลังเดียวกันตามปกติ เรือนหลังพิพาทโจทก์จำเลยเป็นคนสร้าง ชาวบ้านวิจารณ์กันว่าการหย่าของโจทก์จำเลยนั้นเป็นเรื่องโจทก์หลอกจำเลย นอกจากนี้โจทก์เองก็เบิกความรับว่าจำเลยมีที่ดินเป็นสินเดิมอยู่ด้วย แต่ในบันทึกหลังทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 ระบุเอาสินเดิมของจำเลยรวมเข้าเป็นสินสมรสด้วย และข้อความในบันทึกคงมีแต่โจทก์มีบุตร 3 คนเท่านั้นที่ได้รับทรัพย์สิน จึงเชื่อตามจำเลยนำสืบว่าโจทก์หลอกให้จำเลยลงชื่อในกระดาษไม่มีข้อความ และเวลาให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนโจทก์ให้ถ้อยคำเองการที่จำเลยยอมจดทะเบียนหย่าก็เพราะโจทก์บอกว่าโจทก์มีหนี้สินคนอื่นเกรงเจ้าหนี้ฟ้องยึดเอาทรัพย์สินทั้งหมด เช่นนี้เห็นว่า การแบ่งทรัพย์สินตามที่บันทึกไว้ด้านหลังทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 มีพิรุธว่ามิได้มีการแบ่งกันจริงจัง ก่อนจดทะเบียนหย่าไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทะเลาะกันแต่อย่างใดและหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์จำเลยและบุตรยังอยู่ร่วมเรือนเดียวกันตามปกติตลอดมา และได้ร่วมกันสร้างเรือนเลขที่ 80 อยู่อาศัยด้วยกัน ร่วมกันปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภรรยาทั่ว ๆ ไป ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือจำเลยจะมีคู่ครองใหม่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยก็โดยเจตนาไม่ประสงค์จะให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ดังนั้นโจทก์จำเลยจึงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา โจทก์จำเลยจำต้องอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ตามรูปคดีจึงไม่มีเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทได้"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3838/2528

สามีภรรยาทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันไว้ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1514 ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้วเมื่อสามีไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้ภรรยา ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้บังคับสามีไปจดทะเบียนหย่าได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 หรือไม่

โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าเป็นผู้เขียนเอกสารดังกล่าวขึ้น ให้จำเลยอ่านและลงลายมือชื่อไว้ แล้วนายจิระนันท์ สังขจันทร์ บุตรของโจทก์จำเลย กับนางสาวประจง บุนนาค ที่โจทก์ลงชื่อเป็นพยานรู้เห็นตามลำดับ มีนายจิระนันท์และนางสาวประจงเบิกความสนับสนุน โดยจำเลยมิได้ถามค้านพยานทั้งสามปากนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยปากเดียวเบิกความว่าเคยลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้โจทก์ไป เข้าใจว่าโจทก์สมคบกับนางสาวประจง บุนนาคเอาไปทำเป็นเอกสารหมาย จ.7 จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนอีก พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าของจำเลยเชื่อได้ว่าโจทก์จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 จริง ซึ่งเป็นการถูกต้องครบถ้วนตาม มาตรา 1514 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้ว แต่การหย่าโดยความยินยอมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา 1515 ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2530

ค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคแรก จะมีได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ ตามมาตรา 1516(1)เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาได้.

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 'จำเลยฎีกาข้อหนึ่งว่า โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2527 โจทก์ฟ้องวันที่ 22 มกราคม2528 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่ยอมหย่าทั้งที่ข้อเท็จจริงหย่ากันแล้วศาลควรพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2527 โจทก์ฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากหย่ากันแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอหย่าและไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนแต่อย่างใดเพราะว่าค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก จะมีขึ้นได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (1) เท่านั้น หากจำเลยผิดสัญญาไม่จ่ายเงินให้โจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญา จะนำคดีมาฟ้องเรียกค่าทดแทนหาได้ไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป'

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง. 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2533

การที่โจทก์ จำเลย ประสงค์จะหย่าขาดจากกันจึงไปทำบันทึกในรายงานประจำวัน ณ สถานีตำรวจมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยจะทำการหย่าร้างจากการเป็นสามีภริยากันให้ถูกต้องตามกฎหมายในภายหลังส่วนเรื่องทรัพย์สินของสามีภริยาส่วนตัวจะไปทำความตกลงกันเองโดยโจทก์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ลงลายมือชื่อไว้ด้วย นั้น แม้ในบันทึกดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนายลงลายมือชื่อในฐานะพยาน แต่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวก็กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่และรับรู้ข้อตกลงของโจทก์จำเลย ถือได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงนี้ เมื่อข้อความในบันทึกดังกล่าวระบุอย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ จำเลยจะทำการหย่าร้างกันตามกฎหมาย โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึก และมีพยานลงลายมือชื่ออีก 2 คนแล้วบันทึกดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1514 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ ที่ดินและบ้านโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์มาหลังจากทำการสมรสกับจำเลยแล้วโดยโจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อมา จึงเป็นสินสมรส ตู้เย็น โทรทัศน์สี และตู้ลำโพง อันเป็นของใช้ภายในบ้านเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ที่ดินซึ่งจำเลยซื้อมาในระหว่างสมรสและมีชื่อ โจทก์ จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยจำเลยนำเงินที่ได้จากการค้าขายและเงินเดือนไปซื้อ นั้น เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส การที่จำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสด้วย.

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2523 และตกลงทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน2527 โจทก์จำเลยได้ไปพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำบันทึกข้อตกลงไว้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า บันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นการหย่าโดยความยินยอมตามกฎหมายหรือไม่ทรัพย์สินตามบัญชีเอกสารหมาย จ.4 อันดับที่ 1 ถึงที่ 6ที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 เป็นสินสมรสหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า บันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10เป็นการหย่าโดยความยินยอมตามกฎหมายหรือไม่ ตามบันทึกดังกล่าวระบุว่า"นายสุรชัย และนางจุฑาทิตจะทำการหย่าร้างจากการเป็นสามีภริยากันให้ถูกต้องตามกฎหมายในภายหลัง...ส่วนเรื่องทรัพย์สินของสามีภริยาส่วนตัวจะไปทำความตกลงกันเอง..."เห็นว่า ข้อความในบันทึกดังกล่าวระบุอย่างชัดแจ้งว่าโจทก์จำเลยจะทำการหย่าร้างกันตามกฎหมาย และโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว กรณีถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงที่จะหย่ากันตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้บันทึกดังกล่าวมีร้อยตำรวจตรีวิทยา เหลืองสกุลพานิช พนักงานสอบสวนและจ่าสิบตำรวจ1 นาย ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าวไว้ แม้ในบันทึกดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองลงลายมือชื่อในฐานะพยาน แต่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวก็กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่ และรับรู้ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จำเลย ถือได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมแล้ว ดังนั้นบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายจ.10 เป็นการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์จำเลย โดยทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ในปัญหาที่ว่า ทรัพย์สินตามบัญชีเอกสารหมาย จ.4 อันดับที่ 1ถึงที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 เป็นสินสมรสหรือไม่ ทรัพย์สินอันดับที่ 1 เป็นที่ดินโฉนดที่ 158554 พร้อมบ้าน โจทก์เบิกความว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวโจทก์และจำเลยซื้อร่วมกันและช่วยกันชำระเงินชำระเงินดาวน์เป็นเงินประมาณ 100,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2523 จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวกันตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และคงค้างชำระที่ดินและบ้านอีกประมาณ 500,000 บาท ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้ โจทก์จำเลยช่วยกันผ่อนชำระจนครบและไถ่ถอนประมาณเดือนมกราคม 2526 เห็นว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2523จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการสมรส ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยซื้อไว้ก่อนจดทะเบียนสมรสตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1นั้น ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวข้อ 2 ระบุว่า ผู้ซื้อยอมชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่ผู้ขายดังที่จะกล่าวต่อไป

(1) เมื่อผู้ขายมีคำบอกล่าวแจ้งให้ผู้ซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อขายกัน และผู้ซื้อได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายจำนวน 14,000บาท พร้อมทั้งผู้ซื้อได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาปลูกสร้างอาคาร และชำระเงินค่าจ้างเหมาปลูกสร้างอาคารครบถ้วนถูกต้องแล้ว ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อขายดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ เห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวยังไม่มีการชำระเงินค่าที่ดินในวันทำสัญญา คงมีแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและวิธีการชำระค่าที่ดินเท่านั้น และหลังจากทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ไม่มีหลักฐานการชำระค่าที่ดิน คงมีแต่ใบเสร็จรับเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่จำเลยจ่ายให้บริษัทผู้รับเหมาไปก่อนสมรสเพียง 2 งวด เป็นเงิน 40,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3 ทรัพย์สินดังกล่าวโจทก์จำเลยไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสตามเอกสารหมาย จ.1และจำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยปลูกบ้านดังกล่าวเพื่ออยู่กินกับโจทก์ และเพื่อให้มารดาและพี่สาวอยู่อาศัย จำเลยเริ่มผ่อนราคาบ้านดังกล่าวก่อนแต่งงานกับโจทก์และหลังแต่งงานก็ยังผ่อนอยู่คำเบิกความดังกล่าวของจำเลยจึงต้องกันกับคำเบิกความของโจทก์ และจำเลยก้เบิกความยอมรับอกีว่าจำเลยรู้จักโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521โดยทำงานร่วมกันที่บริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบกันแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านดังกล่าว ดังนั้นทรัพย์สินอันดับที่ 1 จึงเป็นสินสมรสสำหรับทรัพย์สินอันดับที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 โจทก์เบิกความยืนยันว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในระหว่างสมรส เห็นว่าทรัพย์สินอันดับที่ 2 เป็นที่ดินโฉนดที่ 158568 ซื้อมาเมื่อวันที่13 กรกฎาคม 2526 โจทก์จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ปรากฏตามโฉนดเอกสารหมาย จ.5 ทรัพย์สินอันดับที่ 3 ที่ 4 เป็นรถยนต์ โจทก์ซื้อมาหลังจากโจทก์จำเลยแต่งงานกันแล้วตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างสมรส ส่วนทรัพย์สินอันดับที่ 5 ที่ 6 เป็นตู้เย็น อันดับที่ 9 ที่ 10 เป็นโทรทัศน์สีอันดับที่ 14 เป็นตู้ลำโพง 1 ตู้ ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของใช้ภายในบ้าน และจำเลยยอมรับว่าทรัพย์สินอันดับที่ 5 โจทก์ซื้อมา ส่วนทรัพย์สินอันดับที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 จำเลยไม่นำสืบโต้แย้งว่าได้มาก่อนสมรส พยานหลักฐานโจทก์ก็มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าทรัพย์สินอันดับที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 ได้มาในระหว่างสมรสเช่นกัน ในปัญหาที่ว่าจำเลยใช้เงินซึ่งเป็นสินส่วนตัวซื้อทรัพย์สินดังกล่าวเว้นทรัพย์สินอันดับที่ 5 หรือไม่ จำเลยเบิกความว่าจำเลยซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินอันดับที่ 2 ด้วยตนเองโจทก์ไม่ได้ร่วมซื้อด้วยเห็นว่า จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนว่าเงินที่ซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัว แต่ได้เบิกความตอบคำถามค้านว่า เงินส่วนที่จำเลยนำไปซื้อทรัพย์สินดังกล่าวนั้นหมายถึงเงินที่ได้จากการค้าขายพลอยและเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย จึงเห็นได้ชัดว่าเงินที่จำเลยอ้างมาดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยนำเงินซึ่งเป็นสินสมรสไปซื้อทรัพย์สินมา ทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกเป็นสินสมรสดังนั้นทรัพย์สินตามบัญชีเอกสารหมาย จ.4 อันดับที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 9ที่ 10 และที่ 14 เป็นสินสมรสส่วนทรัพย์สินอันดับที่ 5 ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยขายไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้นั้น จำเลยไม่ได้ให้การไว้ว่าจำเลยได้ขายไปแล้วในระหว่างสมรส ทั้งไม่ได้ถามค้านโจทก์ไว้จำเลยจึงเบิกความลอย ๆ ไม่น่าเชื่อ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขายทรัพย์สินอันดับที่ 5 ไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน.

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2533

โจทก์คนสัญชาติไทย จำเลยคนสัญชาติอินเดีย จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. การสมรส ค.ศ. 1949ของประเทศอังกฤษ แม้มิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียน อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียนณ ที่ทำการสถานทูต หรือกงสุลไทยก็ตาม เมื่อได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ ทั้งตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันโดยความยินยอมได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา การหย่าโดยทำหนังสือหย่ากันเองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้แต่เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1515 หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าเท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามหนังสือหย่า โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516และการฟ้องของโจทก์เช่นนี้ก็เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ.

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังไว้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2521 โจทก์ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดีย ได้จดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานทะเบียนเขตเชลซี ท้องที่รอเยลโบโร แห่งเคนชิงตันและเชลซีประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.9 ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการสมรส ค.ศ. 1949 ของประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยากันที่บ้านบิดาโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 โจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อแรกว่าศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากันเพราะการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 มุ่งหมายเฉพาะกรณีคู่สมรสได้ทำการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เท่านั้น กล่าวคือต้องเป็นกรณีโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 คือ ต้องเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือกึ่งอำเภอ หรือโดยเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ณ ที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยจึงจะพิพากษาให้คู่สมรสหย่ากันได้นั้น พิเคราะห์ปล้ว เห็นว่าการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าวนั้นจะมีผลใช้บังคับหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 26ซึ่งบัญญัติว่า "การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองระบบกฎหมายของประเทศที่อนุญาตให้มีการหย่าด้วยความยิยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย หมายความว่าการหย่าโดยความยินยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อกฎหมายของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายยินยอมให้หย่าโดยความยินยอมได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้เถียงกันและฟังเป็นยุติแล้วว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือ กฎหมายของประเทศไทยและอินเดียต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่าโดยความยินยอมได้และโจทก์กับจำเลยก็ได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจตามเอกสารหมาย จ.3 การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514แม้โจทก์กับจำเลยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ หรือกิ่งอำเภอหรือโดยนายทะเบียน ณที่ทำการสถานทูตหรือกงสุลไทยก็ตาม การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยดังกล่าวก็มีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 เมื่อโจทก์ฟ้องหย่าโดยอาศัยหนังสือหย่าฉบับดังกล่าวศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาได้ ที่จำเลยฎีกาว่าแม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายของประเทศอังกฤษจะฟังได้ว่าเป็นการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์และจำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 คือ ไม่สามารถไปจดทะเบียนหย่าในราชอาณาจักรไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าการใด ๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว ได้ทำขึ้นในต่างประเทศตามแบบซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นนั้นบัญญัติไว้ ผู้มีส่วนได้สเียจะขอให้บันทึกในประเทศไทยก็ได้ แต่ต้องยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้นโดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย"และมาตรา 18 บัญญัติว่า "การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้นให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือที่ระบไว้ในมาตรา 1514 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย" จากบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันในประเทศตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษก็ตามหากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะจดทะบเียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยได้ตามขั้นตอนของบทกฎหมายดังกล่าว คือ ในเบื้องต้นโจทก์หรือจำเลยต้องร้องขอให้นายทะเบียนในประเทศไทยบันทึกข้อความลงในทะเบียนว่าโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน ณสำนักงานทะเบียนเขตเชลซีประเทศอังกฤษ ตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษแล้ว พร้อมกับยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการจดทะเบียนสมรสตามเอกสารหมาย จ.9 พร้อมคำแปลภาษาไทยขั้นตอนต่อไปโจทก์และจำเลยก็ร้องขอให้นายทะเบียนในปะเทศไทยจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3 ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 17 และ 18 ดังกล่าว ดังนี้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกทั่วไปได้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยในกรณีนี้จึงสามารถปฏิบัติตามมาตรา 1515 ดังกล่าวได้ที่จำเลยฎีกาว่ากรณีนี้เมื่อโจทก์กับจำเลยทำหนังสือหย่ากันเองก็สมบูรณืแล้วไม่จำต้องให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันอีกโดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2496 มาด้วยนั้น เห็นว่า การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3 นั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับกันได้เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น แต่จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 เมื่อจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าโจทก์จึงจำเป็นต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันเพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทะเบียนครอบครัวต่อไปเพื่อให้การหย่านั้นสมบูรณ์ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทเบียนสมรสกัน ณ ต่างประเทศโดยมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ต่อมาได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายในประเทศไทยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการหย่านั้นสมบูรณ์ ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันนับแต่นั้น จำเลยที่ 1 ทำการสมรสกับจำเลยที่ 2 ได้ไม่ถือว่าขณะจำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 ยังเป็นคู่สมรสกับโจทก์โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะไม่ได้ คดีดังกล่าวไม่มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหย่ากับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือหย่าที่ทำกันไว้ได้หรือไม่ รูปเรื่องและข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่จำเลยฎีกาว่าคพิพากษาของศาลไทยที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าไม่มีสภาพบังคับกล่าวคือ ไม่อาจบังคับให้นายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน เขตเชลซีประเทศอังกฤษ ปฏิบัติตาม เพราะจะเป็นการขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกอาณาเขตประเทศไทย และไม่สามารถบังคับนายทะเบียนเขตปทุมวันจดทะเบียนหย่าให้เพราะนายทะเบียนเขตปทุมวันไม่มีเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของโจทก์กับจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 บัญญัติว่า"เมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสหรือให้หย่ากันแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นนำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน" บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า กรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันนั้นจะไม่มีการจดทะบเียนหย่า เพียงแต่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนว่าศาลพิพากษาให้หย่าแล้วก็มีผลใช้ได้แล้ว คดีนี้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้วโจทก์ก็สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติ มาตรา 16 ดังกล่าวได้กล่าวคือโจทก์ต้องขอให้นายทะเบียนบันทึกเสียก่อนว่าโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันในประเทศอังกฤษและตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.9 พร้อมคำแปลภาษาไทย ตามมาตรา 17ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปโจทก์ก็นำคำพิพากษาให้หย่ากันอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วยื่นต่อนายทะเบียน ตามมาตรา 16เพื่อให้บันทึกว่าศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้วการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 ก็จะมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1515 จึงสรุปได้ว่าคำพิพากษาของศาลคดีนี้สภาพบังคับได้ ส่วนจะมีผลใช้บังคับไปประเทศอังกฤษหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องไปดำเนินการต่อไป แต่ศาลมิได้บังคับให้นายทะเบียนณ สำนักงานทะเบียน เชตเชลซี ประเทศอังกฤษ ทำการจดทะเบียนหย่าให้แก่โจทก์กับจำเลยแต่ประการใดจึงมิใช่การขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกราชอาณาจักร

ที่จำเลยฎีกา เหตุฟ้องหย่ามีเพียง 10 ประการ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3ไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะฟ้องหหย่าได้นั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 แล้ว เท่ากับทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไป ร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนหย่า ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวแล้ว จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมไปร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ได้ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนหย่าแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามนั้นจึงเท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามหนังสือหย่าฉบับดังกล่าว เป็นกรณีโจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันได้โดยไม่เป็นต้องมีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 เพราะกรณีนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้การหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1515 เมื่อฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหย่าโดยอาศัยหนังสือหย่าที่โจทก์กับจำเลยได้ทำขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 หรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องหย่าตามมาตรา 1529 หรือไม่เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์และจำเลยต่อไปอีกแล้ว..."

พิพากษายืน. 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2534

ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำหนังสือยินยอมหย่าที่บ้านของคู่กรณี จะทำที่ไหนก็ได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่า เมื่อได้ความว่าหนังสือยินยอมหย่าระหว่างโจทก์และ ว. ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่าโดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนถูกต้อง จึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโจทก์และ ว. ได้นำหนังสือยินยอมหย่ามาแสดงและเจ้าพนักงานทะเบียนได้จดทะเบียนให้ตามความต้องการแล้ว การหย่าของโจทก์กับ ว. ก็มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1515 นับแต่ได้มีการจดทะเบียนการหย่า ส่วนการที่มีระเบียบการจดทะเบียนครอบครัวฯกำหนดให้นายทะเบียนที่รับการจดทะเบียนต้องแจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสก็ดี หรือต้องแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนกลาง กรุงเทพมหานครก็ดี เป็นแต่เพียงวิธีการในการปฏิบัติราชการให้มีหลักฐานปรากฏเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมและตรวจสอบการรับจดทะเบียนอันเป็นการวางระเบียบภายในให้ถือปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้นการที่ไม่แจ้งไปจึงไม่ทำให้การจดทะเบียนการหย่านั้นไม่สมบูรณ์แต่ประการใด.

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่านายวิบูลย์ ใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่านั้นการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์และนายวิบูลย์นั้นได้กระทำกันที่ว่าการอำเภอสว่างอารมณ์ อันเป็นสถานที่ราชการที่มีข้าราชการปฏิบัติงานอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีจึงไม่อาจจะเชื่อได้ว่าจะมีการจดทะเบียนหย่ากันโดยโจทก์ถูกบังคับขู่เข็ญ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้แจ้งถึงเรื่องที่อ้างว่านายวิบูลย์ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนการหย่าแต่อย่างใด ถ้ามีการขู่เข็ญดังที่โจทก์อ้างจริงการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก็ไม่เป็นการยากและไม่เป็นอันตรายแก่โจทก์อีกด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งความข้อนี้ทำให้เห็นว่าไม่น่าจะมีการขู่เข็ญตามที่โจทก์อ้าง ทั้งตามคำเบิกความของนางผึ่ง มุ่งการมารดานายวิบูลย์ก็ว่าโจทก์เป็นคนชวนนายวิบูลย์หย่า และนางฟ้าวลัยเนียมนาค ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานในทะเบียนการหย่า ก็มาเบิกความรับรองว่า โจทก์กับนายวิบูลย์มีท่าทีเต็มใจหย่าขาดจากกัน ซึ่งนางฟ้าวลัยไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงเชื่อได้ว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์และนายวิบูลย์ตามเอกสารหมาย จ.3 บันทึกการหย่าโดยความยินยอมตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น มิได้เกิดขึ้นจากการขู่เข็ญตามที่โจทก์อ้างส่วนที่โจทก์อ้างว่าเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้ทำกันมาก่อนที่บ้านคู่กรณีจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514วรรคสอง บัญญัติว่า "การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน" ซึ่งการทำหนังสือยินยอมหย่ากันตามที่บัญญัติไว้นั้น มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำที่บ้านของคู่กรณีตามที่โจทก์อ้าง จะทำที่ไหนก็ได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนหย่า เมื่อเอกสารหมาย จ.4 นั้น ได้ความว่าโจทก์และนายวิบูลย์ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่า โดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนถูกต้อง จึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น สำหรับการที่โจทก์อ้างมาในฎีกาประการสุดท้ายว่าการที่เจ้าพนักงานทะเบียนไม่ได้แจ้งการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสและสำนักทะเบียนกลางกรุงเทพมหานคร การหย่าจึงยังไม่สมบูรณ์นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 บัญญัติว่า "เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว" และตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 18บัญญัติว่า "การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1498 วรรคสอง (มาตรา 1514 ปัจจุบัน) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย" เมื่อโจทก์และนายวิบูลย์ ได้นำหนังสือยินยอมหย่าตามเอกสารหมาย จ.4 มาแสดงและเจ้าพนักงานทะเบียนได้จดทะเบียนหย่าให้ตามความต้องการตามทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.3 แล้ว การหย่าของโจทก์กับนายวิบูลย์ก็มีผลสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดนับแต่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าแล้วส่วนการที่มีระเบียบการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2483 ข้อ 4, 7และ 31 กำหนดให้นายทะเบียนที่รับการจดทะเบียน ต้องแจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสก็ดี หรือต้องแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนกลาง กรุงเทพมหานครก็ดีเป็นแต่เพียงวิธีการในการปฎิบัติราชการให้มีหลักฐานปรากฎเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมและตรวจสอบการรับจดทะเบียนอันเป็นการวางระเบียบภายในให้ถือปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้น การที่ไม่แจ้งไปจึงไม่ทำให้การจดทะเบียนหย่านั้นไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ประการใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีฐานะเป็นคู่สมรสในอันที่จะมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษของนายวิบูลย์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน.

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2537

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ (1) ว่าโจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ โดยมิได้ระบุเจาะจงว่าเหตุฟ้องหย่าดังกล่าวคือเหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516เมื่อการฟ้องคดีเพื่อหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยานอกจากเหตุตามมาตรา 1516 แล้วยังมีกรณีตามมาตรา 1515 อีกด้วย ฉะนั้นเมื่อมีการหย่าโดยความยินยอมแล้วแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมยังไม่สมบูรณ์ตามนัยมาตรา 1515 อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีเหตุฟ้องให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินกันต่อหน้าพยาน 2 คน นอกเหนือไปจากเหตุตามมาตรา 1516 ดังนั้น การที่ศาลยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยมาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอมแล้วพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สิทธิฟ้องร้องที่ระงับสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีตามมาตรา 1529คือ สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516(1)(2)(3) หรือ (6)หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมตามมาตรา 1514 วรรคสองและมาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกตกลงการหย่าฉะนั้นเมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า (1) โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ และ(2) สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วหรือไม่ ดังนี้ เหตุฟ้องหย่าตามประเด็นข้อ (1) จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) (ก)(ข) หรือ (ค) และ (6) ส่วนตามประเด็นข้อ (2) เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นการพิจารณานอกประเด็นข้อพิพาทและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 นั้น เห็นว่า ตามประเด็นข้อ (1) ศาลชั้นต้นมิได้ระบุเจาะจงไว้ว่า เหตุฟ้องหย่าดังกล่าวคือ เหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 การฟ้องคดีเพื่อหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา นอกจากกรณีที่ต้องมีเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 แล้ว ยังมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 ที่บัญญัติว่าการหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนหย่านั้นแล้วฉะนั้น ถ้ามีการหย่าโดยความยินยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง แล้ว แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมยังไม่สมบูรณ์ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีเหตุฟ้อง เพื่อให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินกันต่อหน้าพยาน 2 คน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าตามบันทึกที่ตกลงกัน จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่มีทางใดที่จะบังคับจำเลยได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ทั้งโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอม โจทก์จึงฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ และพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์นั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังจำเลยกล่าวอ้าง

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงขนาดให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีของจำเลย และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ทั้งไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่อาจอ้างมาเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ และสิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 นั้น เห็นว่า เมื่อประมวลความประสงค์ของโจทก์ที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามบันทึกข้อตกลงการหย่าที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.2ส่วนข้อที่โจทก์บรรยายเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 มาด้วย เป็นเพียงส่วนประกอบที่ทำให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุตามมาตรา 1516 แล้วโจทก์จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งในการนำสืบของจำเลย จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2แต่อ้างว่าเป็นการตกลงเฉพาะเรื่องทรัพย์สินมิได้กล่าวถึงการหย่า ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ว่าเอกสารหมาย จ.2 มีผลเป็นการตกลงเกี่ยวกับการหย่าหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจข้อความในเอกสารหมายจ.2 แล้ว นอกจากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลบุตร ยังมีข้อความระบุว่า "ผู้เป็นภรรยาพอใจไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้วเพื่อเป็นหลักฐานการหย่าร้าง ครั้งนี้จึงให้มีพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ" ซึ่งมีข้อความระบุถึงการหย่าไว้แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสนิท พวงเพชร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านโคกปรง และนายจรัญ สิงห์ช่างชัย กำนันตำบลโคกปรงมาเป็นพยาน โดยนายสนิทเบิกความว่าจำเลยได้ร้องเรียนต่อพยานว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่น ขอให้ช่วยไกล่เกลี่ย ต่อมาโจทก์จำเลยทำบันทึกยินยอมหย่ากันที่บ้านนายจรัญโดยพยานและนายจรัญลงนามเป็นพยานซึ่งนายจรัญก็เบิกความสนับสนุนในเรื่องการทำบันทึกดังกล่าวและการลงนามเป็นพยาน เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของพยานโจทก์สองปากนี้มีน้ำหนักให้เชื่อได้ เมื่อบันทึกข้อตกลงในการหย่ากันระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มีผู้ลงนามเป็นพยาน2 คน จึงครบถ้วนเป็นข้อตกลงหย่าด้วยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองและที่จำเลยโต้แย้งในฎีกาว่า สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 นั้น เห็นว่าสิทธิฟ้องร้องที่ระบุไว้ในมาตรา 1529คือสิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1)(2)(3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสอง มาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงการหย่า เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง ยังไม่เกินสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ ประกอบกับจำเลยมิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่แสดงว่าคู่กรณีตกลงยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น บันทึกข้อตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จึงมีผลตามกฎหมายโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5974/2538

สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้ให้สิทธิสามีหรือภริยาบอกล้างได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม และเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกันได้ ดังนั้นข้อตกลงที่ว่าจะไม่ยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรสของสามีภริยา จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม)

โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรส แม้จะตกลงหย่าขาดกันตามประเพณีศาสนาอิสลามและทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์และทรัพย์สินโดยมีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่าจำเลยยินยอมผูกพันตามสัญญาตลอดไป และจะไม่ยกเลิกสัญญานี้ แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมิได้จดทะเบียนหย่า ก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย สัญญาแบ่งผลประโยชน์และทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540

หนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงระบุว่า"ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าในวันที่ ณ สำนักงานเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครหลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว"ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อนเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่สำเร็จเพราะยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่ได้ตกลงไว้แม้จะมีการอ้างว่าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ตามแต่เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงกรณีจะอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงจึงยังไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ยังไม่ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 450/2537 เรื่อง ขอหย่าและใช้อำนาจปกครองบุตร คดีดังกล่าวยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่อย่างใด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นฝ่ายไม่ทำตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยจำเลยเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นจากที่ตกลงไว้ในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจำเลยจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดข้อตกลง โดยโจทก์มิได้เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดข้อตกลงจึงเป็นกรณีที่ต้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 คือไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามฟ้องเห็นว่า ในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1 ระบุว่า "ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าในวันที่ณ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว" ซึ่งถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่สำเร็จเพราะยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่ได้ตกลงไว้เช่นนี้ แม้จะมีการอ้างว่าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ตามแต่เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 แล้ว กรณีจะอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ฉะนั้น ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 จึงยังไม่มีผลใช้บังคับเมื่อฟังได้เช่นนี้โจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ยังไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว 

ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องเนื่องจากผู้ร้องได้ไปติดต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา (ขอวีซ่า) ให้กับบุตรผู้เยาว์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ร้องจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล หรือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวเสียก่อน ผู้ร้องจึงจะสามารถพาบุตรผู้เยาว์ เดินทางออกนอกประเทศไทย และสามารถดำเนินการผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องมาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลนี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวของเด็กหญิง เอ บุตรผู้เยาว์ เสียก่อนจึงจะดำเนินการให้ได้

 

ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน  แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม  ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง 

 

 




การสิ้นสุดแห่งการสมรส

เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
เรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่น
ให้บุตรผู้เยาว์อยู่กับมารดาได้รับความอบอุ่นมากกว่า
การอ้างเหตุหย่าต้องมีเหตุตามที่กฎหมายรับรอง
ฟ้องหย่าอ้างภริยานำบุตรไปอยู่กับบิดามารดาเป็นการแสดงเจตนาแยกกันอยู่
เหตุที่สามีกับภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ก็เนื่องจากสามีทำร้ายร่างกาย
จดทะเบียนสมรสแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันการสมรสยังสมบูรณ์
เงินเดือนเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นเงินสินสมรส
ยกย่องหญิงฉันภริยาเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องไม่เริ่มนับอายุความ
สามีภริยาชอบด้วยกฎหมายไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่นและหญิงอื่น
ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรศาลพิจารณาจากประเด็นใดบ้าง?
สิทธิฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรต้องฟ้องหย่าด้วยหรือไม่?
บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ค่าอุปการะเลี้ยงดู
สมรสซ้อน-ผลกระทบต่อสิทธิของบุตร
ภริยาร้องเรียนผู้บังคับบัญชา
ฟ้องหย่าได้ที่ศาลใด เขตอำนาจศาล
อำนาจฟ้องขอเพิกถอนการสมรส
ฟ้องหย่าเรียกค่าเลี้ยงชีพ ค่าทดแทน แบ่งสินสมรส
การจดทะเบียนหย่าด้วยการแสดงเจตนาลวง
การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน
สิทธิฟ้องหย่าระงับเมื่ออีกฝ่ายให้อภัยแล้ว
รู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่า
กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง
โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
แยกกันอยู่เพราะสามีรับราชการที่อื่นไม่สมัครใจแยกกันอยู่
ฟ้องหย่าอ้างเหตุสมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปี
สามีฟ้องหย่าภริยาอ้างเป็นโรคทางประสาทและจิตแต่ทำสัญญายอมความ
สามีหรือภริยาประพฤติชั่วอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
ทำร้ายร่างกายถ้าเป็นการร้ายแรงฟ้องหย่าได้
การแบ่งสินสมรสและกรรมสิทธิ์รวม
ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้
จงใจละทิ้งร้างไปเกินหนึ่งปี
สมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปีฟ้องหย่าได้
ฟ้องหย่าจงใจละทิ้งร้างเรียกสินสอดทองหมั้นคืน
แยกกันอยู่โดยสมัครใจหรือจงใจละทิ้งร้าง?
สามีอยู่ในสภาพคนพิการ-ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลัง
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
สมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปีฟ้องหย่าได้
การฟ้องเรียกค่าทดแทนคดีครอบครัว
ฟ้องหย่าขอแบ่งสินสมรส