
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความ นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont
จดทะเบียนสมรสแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันการสมรสยังสมบูรณ์
สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้วโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนหย่า ต่อมาไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยาและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน จนสามีได้ไปจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่ากับหญิงอื่นอีกสองคนนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าการสมรสครั้งแรกนั้นของสามีภริยาสมบูรณ์หรือไม่? การที่สามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันแล้วโดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันและไม่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันนั้น การไม่อุปการะเลี้ยงดูเป็นเหตุที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เท่านั้นแต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด การสมรสยังคงสมบูรณ์และเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายต่อกันตลอดมา การที่สามีไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นในขณะที่มีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่นั้นจึงเป็นการสมรสซ้อนและเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้
มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยกับพลตำรวจตรีวัฒนาเป็นโมฆะ และให้โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของพลตำรวจตรีวัฒนาแต่ผู้เดียว
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การสมรสระหว่างพลตำรวจตรีวัฒนา บุนนาค กับจำเลยเป็นโมฆะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนา จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2509 ตามทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาปี 2513 พลตำรวจตรีวัฒนาจดทะเบียนสมรสกับนางธนพรรณ แต่ก็ได้จดทะเบียนหย่ากันในปี 2536 หลังจากนั้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 พลตำรวจตรีวัฒนาได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยตามทะเบียนสมรสเอกสารหมาย ล.8 โดยที่ขณะนั้นพลตำรวจตรีวัฒนายังมีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าใบจดทะเบียนการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนาไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนามิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 มาตั้งแต่ปี 2531 จนพลตำรวจตรีวัฒนาถึงแก่ความตาย ทำนองว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนาไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนา และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนาจึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนาจะมิได้อยู่กินด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังดังที่จำเลยฎีกาก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรีวัฒนา โจทก์จึงยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรีวัฒนาอยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรีวัฒนาขณะที่พลตำรวจตรีวัฒนามีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่ จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรีวัฒนาถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับพลตำรวจตรีวัฒนาเป็นโมฆะได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - วิชา มหาคุณ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ )
ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว
ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องเนื่องจากผู้ร้องได้ไปติดต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา (ขอวีซ่า) ให้กับบุตรผู้เยาว์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ร้องจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล หรือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวเสียก่อน ผู้ร้องจึงจะสามารถพาบุตรผู้เยาว์ เดินทางออกนอกประเทศไทย และสามารถดำเนินการผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องมาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลนี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวของเด็กหญิง เอ บุตรผู้เยาว์ เสียก่อนจึงจะดำเนินการให้ได้
ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก
การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดก ตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วมิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง